โอวาทปาติโมกข์
วันจันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ (๑๗.๓๐ - ๑๙.๐๐ น.)
ลานธรรมมหาธรรมกายเจดีย์ วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่วแน่มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ
พอสบายๆ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา ปรือๆ ตานิดๆ พอสบายๆ
แล้วก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ปรับร่างกายของเราให้เลือดลมเดินได้สะดวก
จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ต้องสบาย
ปรับใจ
ปรับใจของเราให้ใสๆ
ให้ เกลี้ยงๆ โดยทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว ให้ใจไม่ไปเกาะ
ไปเกี่ยว ไปเหนี่ยว ไปรั้งเรื่องอะไรเลย ไม่ว่าเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ
ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว
หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจใสๆ ใจสบายๆ คล้ายๆ
กับเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่เคยเจอะเจอสิ่งอะไรเลย ทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ใจจะได้เกลี้ยงๆ
วางใจ
รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายในไปหยุด
นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งอยู่เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า
หยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติว่า เอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน
แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ให้เอาใจไปหยุด นิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ตรงนี้ ให้ใจหยุดอย่างเบาๆ สบายๆ
บริกรรมนิมิต
จะนึกถึงบริกรรมนิมิตไว้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจของเราไปด้วยก็ได้
จะนึกเป็นดวงใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วโตขนาดไหนก็ได้ ที่เรานึกได้อย่างสบายๆ
ให้ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย ให้นึกอย่างเบาๆ สบายๆ ง่ายๆ
คล้ายกับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย นึกถึงดวงใสๆ อย่างสบายๆ
หรือจะนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์พุทธปฏิมากร
หรือพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เราเคารพกราบไหว้บูชา จะทำด้วยอะไรก็ได้ เท่าที่เรานึกได้อย่างสบายๆ
อาราธนาท่านมานั่งเจริญสมาธิภาวนา ขัดสมาธิเจริญสมาธิเหมือนอย่างเราทำอย่างนี้
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ก็ได้
นึกถึงขนาดที่พอเหมาะพอดีที่ใจเราชอบ
ที่ท่านนั่งเจริญสมาธิภาวนา โดยหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา เราหันหน้าไปทางไหน
ก็ให้ท่านหันหน้าไปทางนั้น เพราะฉะนั้นลักษณะที่เราจะนึกถึงท่าน
มองดูท่านภายในก็คล้ายๆ กับเรามองจากพระเศียรลงไปด้านล่าง
ชัดแค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อนอย่างสบายๆ
นี่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะว่าเคารพกราบไหว้บูชาท่านเป็นประจำทุกวัน
ดังนั้น
จะนึกเป็นดวงใสๆ สบายๆ ก็ได้ หรือจะเป็นองค์พระพุทธรูปใสๆ เป็นพระแก้วใสๆ
หรือโลหะอะไรก็ได้ที่เราคุ้นเคย อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรานึกแล้วรู้สึกว่า เราสบาย
มีความปลื้มปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ แล้วก็ง่ายต่อการนึกถึง
ให้นึกเท่าที่เราจะนึกได้อย่างง่ายๆ สบายๆ ชัดเจนแค่ไหนก็ได้
เพื่อให้ใจของเรามาหยุดมานิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจของเราให้หยุดนิ่ง
ด้วยบริกรรมภาวนาควบคู่กันไป คือนึกถึงบริกรรมนิมิตดังกล่าว
จะเป็นดวงหรือองค์พระก็ตาม พร้อมกับภาวนาในใจเบาๆ อย่างสบายๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ โดยให้เสียงคำภาวนาว่า
สัมมาอะระหัง ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา กลางดวงใสๆ ที่เรากำหนดนึกเอาไว้
หรือกลางองค์พระใสๆ อย่างสบายๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
จะภาวนากี่ครั้งก็ได้แล้วแต่ใจของเราปรารถนา
ทุกครั้งที่ภาวนาก็ให้นึกถึงภาพบริกรรมนิมิตดังกล่าวควบคู่กันไป แต่ต้องนึกอย่างเบาๆ
สบายๆ จนกระทั่งใจเราไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากหยุดนิ่งเฉยๆ กลางดวงใสๆ
หรือกลางองค์พระใสๆ อย่างนี้ก็ได้
สำหรับบางคน
ถ้านึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นภาพในกลางกาย แล้วรู้สึกว่า มันไม่สบาย มันอดไปเน้น
ไปเค้นภาพไม่ได้ อยากจะวางใจหยุดนิ่งเฉยๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
อย่างนี้อย่างเดียวก็ได้
พูดง่ายๆ
ว่า อย่างไหนที่เราทำแล้วเราสบายใจ หาจุดสบายเจอ เราก็ทำอย่างนั้นไปก่อนนะลูกนะ
ชอบอย่างไหน ถนัดอย่างไหน คุ้นเคยอย่างไหน เราก็ทำอย่างนั้นไปก่อน
จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง
เส้นทางพระอริยเจ้า
เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนจะตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน
เหมือนเราตกมาจากที่สูงๆ จนหล่นวูบเข้าไป แล้วก็จะมีดวงธรรมใสๆ
ปรากฏเกิดขึ้นแทนสิ่งที่เรานึกถึง จะเกิดขึ้นเมื่อใจสบาย ไม่เกาะ ไม่เกี่ยว
ไม่เหนี่ยว ไม่รั้งเรื่องอะไรเลย แล้วใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ดังกล่าว
จะตกศูนย์ไปสู่อีกมิติหนึ่ง
แล้วดวงใสๆ จากมิติที่มีสภาวะละเอียดก็บังเกิดขึ้น
ดวงที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะแตกต่างจากดวงที่เรากำหนดเป็นบริกรรมนิมิต
เพราะว่าเป็นดวงธรรมดวงแรกที่เรียกว่า ดวงปฐมมรรค มีอยู่ในตัวของทุกๆ คนในโลก
เป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
บรรลุธรรมมรรคผลนิพพานก็เกิดจากใจหยุดนิ่งแล้วตกศูนย์ดังกล่าว
แล้วดวงปฐมมรรคก็ลอยเกิดขึ้นมาเป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน
เมื่อท่านทำใจหยุดในหยุดนิ่งไปเรื่อยๆ
ท่านก็จะเห็นกายในกายไปตามลำดับ เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม
กายในกาย
ก็ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม กระทั่งถึงกายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน
กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัต ที่มีอยู่แล้วภายใน เป็นกายที่ซ้อนๆ
กันอยู่ กายที่ละเอียดจะซ้อนอยู่ในกลางกายที่หยาบกว่า
กายที่บริสุทธิ์กว่าจะซ้อนอยู่ในกลางกายที่บริสุทธิ์น้อยกว่า
จนกระทั่งไปถึงกายสุดท้ายคือ กายธรรมอรหัตผล หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา
เกตุดอกบัวตูม ใสเกินความใสใดๆ ในโลก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านบรรลุธรรมด้วยวิธีการอย่างนี้
วันมาฆบูชา
วันนี้เป็นวันความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา
เป็นวันมาฆบูชามหาสมาคม วันที่มีความสำคัญต่อตัวเราและชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง
เพราะถ้าไม่มีวันนี้ก็ยากที่พระพุทธศาสนาจะแผ่ขยายกว้างไกลไปได้ทั่วโลก
เมื่อราว
๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน ได้มีการชุมนุมกันของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป
ซึ่งท่านมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายกันทางวาจา
แต่ทว่ารู้กันด้วยญาณทัสสนะของพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว
อีกทั้งทุกรูปยังทรงอภิญญา
ล้วนเป็นผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ด้วยพระองค์เอง
ในวันนั้น
พุทธองค์ได้ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์
ซึ่งเป็นหลักธรรมแม่บทที่สำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เพื่อที่จะยังความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ
ศาสนา และเผ่าพันธุ์
เพื่อทำให้ชาวโลกได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตที่สมบูรณ์สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ตามแบบอย่างของท่านผู้รู้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
หลักโอวาทปาฏิโมกข์
หลักโอวาทปาติโมกข์นั้น
ประกอบไปด้วยอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เริ่มต้นด้วย อุดมการณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา แปลว่า
ความอดทนเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง หมายถึง ผู้ที่จะไปทำหน้าที่เป็นแสงสว่างของโลก
จะต้องมีความอดทนเป็นพื้นฐาน ต้องอดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา
อดทนต่อการกระทบกระทั่ง และอดทนต่อกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ถ้าหากอดทนอดกลั้นต่อสิ่งเหล่านี้ได้
ก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายไปสู่เป้าหมายคืออายตนนิพพานได้
เหตุที่ทรงสอนให้อดทนอย่างมีเป้าหมายเพื่อไปนิพพานนั้น
เพราะทรงเห็นแจ้งว่า นิพพานัง
ปะระมัง วะทันติพุทธา ท่านผู้รู้ทั้งหลาย คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสว่า
พระนิพพานเป็นเยี่ยม คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกๆ พระองค์ทรงเห็นพ้องต้องกันว่า
สิ่งที่เยี่ยมที่สุดคือพระนิพพาน พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว
ทุกคนจะต้องทำพระนิพพานให้แจ้ง นี่คือวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์
ระหว่างที่สร้างบารมีอยู่นั้น
ก็อย่าไปก่อเวรหรือเบียดเบียนใคร ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า นะหิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ
โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต คือ บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะผู้สงบเลย
เอตัง พุทธา นะสาสะนัง
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เมื่อทรงให้อุดมการณ์แล้ว
พระพุทธองค์ก็ทรงให้ หลักในการปฏิบัติ
เพื่อให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตว่า
สัพพะ ปาปัสสะ อะกะระณัง คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะ ปริโยทะปะนัง
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
เอตัง พุทธา นะสาสะนัง
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พูดง่ายๆ
คือ ทรงสอนให้ละชั่ว ทำแต่ความดี แล้วก็ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส
เพื่อจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยที่มีอยู่แล้วภายในตัวของทุกๆ คน
เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว ล้วนมีพระธรรมกายอยู่ในตัวทั้งสิ้น
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงมุ่งเน้นให้ทุกคนแสวงหาตัวตนที่แท้จริงภายใน
เพราะสิ่งนี้เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้อย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด
ต่อจากนั้นก็ทรงให้วิธีการในการเผยแผ่ แนะนำ ถ่ายทอด
เพื่อจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม
อีกทั้งยังเป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีแก่ชาวโลก
โดยทรงให้วิธีการตามหลักวิชาดังต่อไปนี้คือ
อะนูปะวาโท ไม่ว่าร้ายใคร
อะนูปะฆาโต ไม่ทำร้ายใคร
และไปขู่บังคับให้ใครเขามาเชื่อเรา แต่ต้องให้เขาเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามเหตุตามผล
จนเกิดความศรัทธาเชื่อมั่นด้วยตนเอง
ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร
ให้สำรวมในศีลและมารยาท จะได้ไม่ไปกระทบกระทั่งกับใคร
และยังก่อให้เกิดความน่าเคารพน่าเลื่อมใสอีกด้วย
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสสะมิง
ให้รู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอดี
ปัญตัญ จะ สะยะนาสะนัง
ให้อยู่ในเสนาสนะ ที่นอนที่นั่งอันสงบสงัด ที่เอื้ออำนวยต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม
อะธิจิตเต จะ อาโยโค
ให้ประกอบความเพียรในอธิจิต คือ หมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจให้หยุดให้นิ่ง
ให้ใจละเอียด ใจใสบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป
เอตัง พุทธา นะสาสะนัง
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
บทโอวาทปาติโมกข์นี้มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นกี่พระองค์แล้วก็ตาม
จะทรงสั่งสอนอย่างนี้เหมือนกันหมด ตรงกันหมด เหมือนเป็นเนติแบบแผนเดียวกัน
พุทธโอวาทที่กล่าวมาข้างต้นโดยสรุปนี้
เป็นสิ่งที่ตัวเราและชาวโลกจะต้องนำไปประพฤติปฏิบัติ
ด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อในพระธรรม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งต่อตัวเราเอง
ต่อครอบครัว ต่อสังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้
ชาวพุทธที่แท้จริง
โดยเฉพาะเราเป็นชาวพุทธ
จะต้องยึดหลักโอวาทปาติโมกข์นี้อย่างเคร่งครัด และปฏิบัติให้เหมาะสม จึงจะได้ชื่อว่า
เป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์
ถ้าหากชาวโลก ทุกๆ
คนได้ศึกษาความรู้สากลนี้ และได้ปฏิบัติตามหลักโอวาทปาติโมกข์
โลกก็จะบังเกิดสันติสุขที่แท้จริง
มวลมนุษยชาติจะปรองดองกันเหมือนเป็นประดุจครอบครัวเดียวกัน
จะมีความรักและปรารถนาดีต่อกันอย่างแท้จริง จะรู้จักการให้อภัย
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน
ความรักสากลที่มาพร้อมกับสันติสุขที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้นในโลก
ดังนั้น
วันนี้จึงเป็นวันสำคัญของโลก ถ้าหากไม่มีวันมาฆบูชา
ชาวโลกก็จะไม่รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์
ในการที่จะนำพาชีวิตไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงได้เลย
เพราะฉะนั้น
วันนี้เราจึงต้องมาทบทวนโอวาทปาติโมกข์
และระลึกถึงหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพเลื่อมใส และร่วมใจกันปฏิบัติบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
เมื่อใจเราบริสุทธิ์ผ่องใส เราก็จะได้ร่วมกันจุดมาฆประทีปถวายเป็นพุทธบูชา
รวมทั้งพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
อานิสงส์การจุดประทีป
การบูชาด้วยประทีปแสงสว่างนี้ จะทำให้เราได้รับอานิสงส์ เป็นผู้ถึงพร้อมทั้งมังสจักษุ
ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ สมันตจักษุ และธรรมจักษุ เราจะมีดวงตาแจ่มใสสวยงาม
ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา และจะมีรัศมีกายที่สว่างไสว อีกทั้งมีดวงปัญญาสว่างไสว
สามารถรู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้อีกด้วย
ก่อนที่เราจะได้จุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชา
ก็ให้ลูกทุกคนจุดใจของเราให้ใสสว่างภายในเสียก่อน ด้วยการหยุดใจให้นิ่งๆ นุ่มๆ
เบาๆ สบายๆ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดังกล่าว หยุดไปจนกว่าความสว่างภายในจะเกิดขึ้น
แล้วเราก็จะขยายความสว่างจากภายในใจของเราผ่านมือทั้งสองประคองจุดมาฆประทีป น้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันต่อไป
เมื่อลูกทราบอย่างนี้แล้วก็ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
จนกว่าจะถึงเวลาสว่าง เราจะได้พร้อมใจกันจุดมาฆประทีปกันต่อไป
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565