ง่ายจึงจะถูกวิธี
วันอาทิตย์ที่ ๙ มกราคม
พ.ศ. ๒๕๕๔ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ
ค่อนลูกพอสบายๆ ไม่ถึงกับเปลือกตาปิดสนิท หลับตาพอสบายๆ ปรือๆ ตานิดหน่อย พอให้แสงลอดเข้ามาได้นิดๆ
นิดๆ สำคัญนะลูกนะ ปรือๆ ตา จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าของเราผ่อนคลาย
ผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัว ถ้าเราหลับตาเป็น จะทำให้การเพ่ง การจ้อง
หรือกดลูกนัยน์ตามองเข้าไปในกลางกายมันจะหายไป ต้องปรือๆ ตา
แล้วก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้ผ่อนคลายจริงๆ ตั้งแต่กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ศีรษะ ลำคอ
บ่าไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ให้ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว
ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้าให้ผ่อนคลาย
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ต้องผ่อนคลายใจถึงจะเข้าถึงสมาธิได้
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าเรื่องคน สัตว์
สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว
หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง
ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง
ทำเหมือนว่าเรานั่งอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีเครื่องผูกพันอะไรเลย ใจเกลี้ยงๆ
ฐานที่ตั้งของใจทั้ง
๗ ฐาน
นึกว่าร่างกายของเราใสบริสุทธิ์เหมือนแก้วใสๆ
ทั้งก้อนกายที่ใสๆ กลวงๆ โล่งๆ ว่างๆ ปราศจากอวัยวะภายใน
คล้ายลูกโป่งที่เราเป่าลมเข้าไปกลวงๆ
แค่เป็นทางเดินของใจ
จากฐานที่
๑ ที่ปากช่องจมูก หญิงซ้ายชายขวา
ฐานที่
๒ ที่เพลาตา หัวตา ตรงตำแหน่งที่น้ำตาไหล
ฐานที่
๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ระดับเดียวกับหัวตาของเรา
ฐานที่
๔ เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก
ฐานที่
๕ ที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก
ฐานที่
๖ อยู่ในกลางท้องของเรา ระดับเดียวกับสะดือ
ฐานที่
๗ ยกถอยหลังสูงขึ้นมาจากฐานที่ ๖ ประมาณ ๒ นิ้วมือ
ฐานที่
๗ สำคัญที่สุด
๗
ฐานนี้ เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทั้งสิ้น ทั้งมาเกิดเป็นมนุษย์
และไปเกิดเป็นอะไรต่ออะไร มาเกิดไปเกิดต้องผ่านฐานทั้ง ๗ ตรงนี้ แต่ฐานที่สำคัญมากที่สุด คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เพราะเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของเรา แล้วก็เป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน
เส้นทางของพระอริยเจ้า
เส้นทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ไม่มีเว้นเลยแม้แต่พระองค์เดียวนับพระองค์ไม่ถ้วน ล้วนนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ทั้งสิ้น ภายหลังจากที่ท่านปล่อยวาง ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
เพราะว่ามันไม่เป็นสาระแก่นสารของชีวิต ใจท่านจะมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้แหละ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตั้งแต่เบื้องต้น
จนกระทั่งท่านบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้เลย หยุดนิ่งอย่างเดียว
เพราะฉะนั้น
เราก็จะต้องเดินตามรอยท่าน ท่านทำอย่างไร เราก็จะต้องทำอย่างนั้น ดังนั้น เมื่อท่านดับทุกข์ได้
เราก็ดับทุกข์ได้ ท่านสอนให้ทำตามท่านอย่างนี้ เพราะฉะนั้นฐานที่ ๗ สำคัญนะจ๊ะ
ตำแหน่งของ
ฐานที่ ๗
สำหรับนักเรียนใหม่
เราต้องสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
สูงกว่าจุดตัดขึ้นมานิดหนึ่ง
จำง่ายๆ
ว่า อยู่ในกลางท้อง ระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
แต่ก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไปว่า ใจของเราจะมาอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป๊ะเลยไหม
แต่เราต้องรู้จัก เพราะมันสำคัญว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ที่ตรงนี้ กลางท้อง เหนือสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
วางใจ
ใจของเราที่คิดแวบไปในเรื่องราวต่างๆ
ให้นำกลับมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ อย่างนุ่มๆ
เบาๆ สบายๆ แล้วก็ผ่อนคลาย
ถ้าใจเราหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ได้ ตัวของเราจะโล่ง โปร่ง
เบาสบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต กายจะเบา ใจจะเบา ความสุขจะเกิดขึ้น
ความบริสุทธิ์จะบังเกิดขึ้น ความรู้แจ้งเรื่องราวราวความเป็นจริงของชีวิตก็จะบังเกิดขึ้น
จะทำให้เราดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง ปิดอบาย ไปสวรรค์ มีสุขในปัจจุบัน
และหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นตำแหน่งที่ฐานที่ ๗ นี้ ต้องจำนะลูกนะ
บริกรรมนิมิต
แล้วก็นำใจมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ พร้อมกับกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจเบาๆ
เพื่อให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ใจของเราจะได้ไม่ไปนึกคิดเรื่องอื่น
ให้กำหนดหรือนึกภาพเครื่องหมายที่ใสสะอาด
เป็นเพชรสักเม็ดหนึ่งที่ใสๆ หรือก้อนน้ำแข็งใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
ขนาดไหนก็ได้กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วที่เจียระไนแล้ว
อย่างเล็กก็กำหนดพอเรามองเห็นได้ ขนาดเท่ากับแก้วตาของเรา
ถ้าเราไม่เคยสังเกตก็เอาที่เราชอบขนาดไหนที่นึกได้อย่างสบายๆ
โดยที่ร่างกายของเราไม่ตึง ไม่เกร็ง แล้วก็ผ่อนคลาย
กำหนดเครื่องหมายนี้ให้ใสๆ เป็น Landmark ที่หยุดใจของเราว่า จะต้องนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
ส่วนใครที่คุ้นเคยกับภาพองค์พระ
กราบไหว้บูชาพระพุทธรูปเป็นประจำ นึกคิดได้ง่าย เราจะเอาองค์พระแทนก็ได้ นึกถึงพระแก้วขาวใสบริสุทธิ์ประดุจทำด้วยเพชรในอิริยาบถสมาธิ
หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา ขนาดไหนก็ได้ ถนัดอย่างไหนให้เอาอย่างนั้น
แต่ถ้านึกไม่ออก เพราะนึกแล้วอดที่จะกดลูกนัยน์ตามองไปในกลางท้องไม่ได้
ก็ให้แค่ทำความรู้สึกว่า ใจอยู่ในบริเวณกลางท้อง อย่างนี้ก็ได้
จำง่ายๆ
สำหรับนักเรียนใหม่ เราถนัดในการนึกเป็นภาพดวงแก้วหรือองค์พระ
หรือก้อนน้ำแข็งเราก็นึกเอา ถ้าถนัดแบบไม่ต้องนึกเป็นภาพ แต่อยากวางใจนิ่งเฉยๆ
ก็ได้ แล้วแต่ความชอบของเรา จริตอัธยาศัยที่แตกต่างกันไป
บริกรรมภาวนา
แล้วก็ประคองใจให้หยุดนิ่ง
ประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง เป็นเสียงภาวนาในใจ ที่ไม่ได้ใช้กำลังในการท่อง
เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
เหมือนมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ แหล่งแห่งอานุภาพอันไม่มีประมาณ
ผ่านศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพื่อกลั่นใจของเราให้ใสๆ ให้บริสุทธิ์
ก็ให้ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆ กี่ครั้งก็ได้
แต่ทุกครั้งที่เราภาวนา สัมมาอะระหัง เราก็ต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงบริกรรมนิมิต
เป็นดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ
จะภาวนากี่ครั้งก็ได้
จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง หรือเกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง อีกต่อไป
อยากจะหยุดใจนิ่งเฉยๆ ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องภาวนา สัมมาอะระหัง อีก
แต่ว่าเมื่อใดใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
เราจึงย้อนกลับมาภาวนา สัมมาอะระหัง ใหม่ ประคองใจกันไปอย่างนี้ สัมมาอะระหังๆ
ต้องง่าย
ถ้ายากไม่ใช่
นึกถึงดวงใสๆ
หรือองค์พระใสๆ อย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ แล้วก็ผ่อนคลายร่างกายของเรา
กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเรา ผ่อนคลาย ปรือๆ ตา หลับตาพริ้มๆ แค่ขนตาชนกัน
นึกภาพภายในได้แค่ไหน
ก็เอาแค่นั้นไปก่อน เช่น ถ้านึกได้เลือนๆ รางๆ ราว ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์
เราก็พึงพอใจอย่างนั้นไปก่อน
ต้องนึกง่ายๆ คล้ายๆ เราก็นึกถึงภาพดอกบัว หรือดอกกุหลาบ
หรือสิ่งที่เราคุ้นเคย ต้องนึกง่ายๆ อย่างนั้น ทำอารมณ์ให้ได้อย่างนั้น
ทำความรู้สึกให้ได้อย่างนั้น ต้องง่าย ถ้ายากไม่ใช่ ต้องผ่อนคลายทั้งกายและใจ
ถ้าตึง
คือ เกร็ง ไม่ใช่ ไม่ถูกวิธี ต้องผ่อนคลาย และใจเย็นๆ ไม่ไปเค้นภาพภายใน ไม่เน้นภาพบริกรรมนิมิต
เพื่อจะให้ได้ดังใจเรา ต้องใจเย็นๆ ไม่ไปฮึดฮัด หงุดหงิด รำคาญใจที่ไม่ได้ดังใจเรา
อย่าไปเค้นอย่างนั้น
ต้องง่าย ต้องผ่อนคลาย ต้องใจใสๆ ใจเย็นๆ สมาธิจึงจะเกิดขึ้นได้
ใจถึงจะหยุดนิ่งได้ ถ้ายากไม่ใช่ ถ้าเกร็ง หรือตึงก็ไม่ใช่
ต้องผ่อนคลาย
สบาย แล้วก็ใจเย็นๆ สัมมาอะระหังๆ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ
อย่างแผ่วเบา ละเอียดอ่อน เหมือนขนนกที่ลอยในอากาศ แล้วก็ตกลงสัมผัสบนแผ่นผิวน้ำอย่างนุ่มนวล
ละมุนละไม ต้องเบาๆ คล้ายๆ อย่างนั้น ใจจึงจะหยุดนิ่งได้
ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว
ก็ให้ตั้งใจประคับประคองใจให้หยุดนิ่งให้ได้ เช้านี้อากาศกำลังสดใส แจ่มใส
เย็นสบาย ให้ลูกทุกคนประกอบความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา
ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
ก็ขอให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ ในการเข้าถึงพระธรรมกายในตัวทุกๆ คนนะลูกนะ
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565