พระแท้
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กรกฎาคม
พ.ศ. ๒๕๕๔ (๑๓.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
การหลับตา
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ เหมือนเราปรือๆ ตานิดๆ ไม่ถึงกับเปลือกตาปิดสนิท แค่ขนตาชนกัน
หลับเบาๆ พอสบายๆ อย่ามองข้ามไปนะลูกนะ เรื่องหลับตานี่สำคัญนะจ๊ะ
ปรับกาย
แล้วก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน
เลือดลมในตัวจะได้เดินได้สะดวก ไม่ปวดเมื่อย ต้องสบายทั้งร่างกายและจิตใจ
ปรับใจ
ทำใจให้เบิกบาน
แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง
วางใจ
แล้วรวมใจไปหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ หรือประมาณกลางท้องที่เรามั่นใจว่า ตรงนี้คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
บริกรรมนิมิต
แล้วก็กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ
ให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา จะได้เชื่อมใจของเราที่ฟุ้งซ่านกระเจิดกระเจิงจากภายนอก
ให้กลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม ในตำแหน่งเดียวกับผู้รู้ทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้ และก็ค่อยๆ บรรจงนึกถึงภาพบริกรรมนิมิตเป็น Landmark เครื่องหมายที่หยุดใจของเราว่า ตรงนี้คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นเพชรสักเม็ดหนึ่ง
ค่อยๆ
นึกไปอย่างสบายๆ ไม่เร่งรีบ ใจเย็นๆ เพื่อที่จะได้ประคองใจให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้ ให้เราค่อยๆ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวง ใสๆ อย่างแผ่วๆ เบาๆ
สบายๆ ใจเย็นๆ
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง
ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ โดยให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
เหมือนมาจากแหล่งอันบริสุทธิ์ จากผู้มีอานุภาพอันไม่มีประมาณ ผ่านกลางกายของเรา
ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจ ความไม่บริสุทธิ์ให้ละลายหายสูญไปให้หมด ในทุกครั้งที่เรานึกถึงภาพบริกรรมนิมิต
เราจะต้องไม่ลืมประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ประคองใจกันไปอย่างนี้
จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง
พอจิตนิ่งก็จะทิ้งคำภาวนาไปเอง
คือ เราไม่มีอารมณ์อยากจะภาวนาต่อ อยากหยุดใจ วางใจนิ่งเฉยๆ อย่างเดียว และอยากนึกถึงภาพเพชรใสๆ
หรือก้อนน้ำแข็งกลมๆ ใสๆ หรือดวงแก้วใสๆ เราอยากจะนึกอย่างนี้อย่างเดียว ก็ให้นึกไปเรื่อยๆ
แต่ต้องสบายๆ ผ่อนคลาย อย่าไปตั้งใจเกินไป อย่าไปบีบ ไปเค้น ไปเน้นภาพ
ได้แค่ไหนเราก็เอาแค่นั้นไปก่อน
วัตถุประสงค์ของชีวิต
ภาพที่เราสมมติขึ้นมานี้
แค่เป็นเครื่องหมายที่หยุดใจของเราเท่านั้นว่า ตรงนี้คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านเอาใจมาหยุดอยู่ตรงนี้ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะเข้าถึงกายของพระตถาคตเจ้า คือกายธรรมที่อยู่ข้างใน ซึ่งเป็นกายดั้งเดิมที่แท้จริงของตัวเรา
และของทุกคนในโลก
ถ้าเราไม่รู้จัก
ไม่คุ้นเคย ไม่เฉลียวใจว่า ในตัวเรามีสิ่งนี้ เรามัวแต่สนใจกายภายนอก ที่มีเกิด
มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ทั้งของเราและของผู้อื่น ชีวิตจึงวนเวียนอยู่กับเรื่องที่ไร้สาระแก่นสาร
ทั้งคน ทั้งสัตว์ ทั้งสิ่งของ
วัตถุประสงค์ของชีวิตที่เกิดมาเพื่อแสวงหา ธรรมกาย
กายดั้งเดิมที่หลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นกายอมตะ และเป็นกายที่รู้แจ้ง
เห็นแจ้งแทงตลอดในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ของสรรพสัตว์ ของสรรพสิ่งทั้งหลาย
เป็นกายที่ทำให้เรามีแต่บรมสุข สุขอย่างยิ่ง สุขอย่างเดียว
ไม่มีความทุกข์เจือปนเลย
บวชสองชั้น
เราก็ค่อยๆ
ประคองใจไป นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ โดยเฉพาะลูกสามเณรธรรมทายาททุกรูป
ที่วันพรุ่งนี้เราจะเริ่มทยอยอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา
เป็นสายโลหิตแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะต้องตั้งใจ ฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพื่อที่จะได้เข้าถึงพระในตัว
การบวชคราวนี้เราก็จะได้ชื่อว่า บวชสองชั้น
ภายนอกครองผ้ากาสาวพัสตร์
บวชแบบญัตติจตุตถกรรม
ภายในเราเข้าถึงพระในตัว
เรียกว่า บวชแบบติสรณคมนูปสัมปทา มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง คือ มีพระธรรมกายในตัว
เพราะฉะนั้น
ลูกสามเณรธรรมทายาททุกรูปก็ต้องให้ความสำคัญตรงนี้ เพราะนี่คือวันประวัติศาสตร์ชีวิตของเรา
ที่เราให้โอกาสตัวเองมาบวช เพื่อที่จะสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
ให้ถูกวัตถุประสงค์ของชีวิต
พระแท้คู่ควรแก่ผ้ากาสาวพัสตร์
ทุกวันทุกคืนที่ผ่านไป
เราจะได้มีความปลื้มปีติและภาคภูมิใจในทุกๆ อนุวินาทีว่า การบวชในคราวนี้เราได้บวชสองชั้น
เป็นพระแท้ มีชีวิตจิตวิญญาณที่เป็นสมณะ เป็นพระแท้ที่สูงส่ง
ที่เราได้รู้จักอย่างแท้จริง จากการฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ อย่างสม่ำเสมอ ทุกข้อวัตรปฏิบัติ
ทั้งกิจวัตรกิจกรรมจนกระทั่งเรามีความเคารพในตัวของเราเอง นับถือตัวเราเอง
ชื่นชมตัวเราเองได้ ภาคภูมิใจในตัวเอง แม้อยู่ตามลำพังเราก็ปลื้มในทุกๆ ครั้งที่เรานึกถึงชีวิตสมณะ
ในแต่ละวันแต่ละคืนที่ผ่านไปว่า
เราเป็นพระแท้ แม้ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้าก็ตาม แต่เราก็เป็นสมณะ
เป็นพระแท้คู่ควรแก่ผ้ากาสาวพัสตร์ คู่ควรกับคำว่า พุทธบุตร
สายโลหิตแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บริโภคด้วยความไม่เป็นหนี้
แล้วก็บริโภคปัจจัย
๔ อันควรแก่สมณะ ที่ญาติโยมหามาด้วยความยากลำบาก ด้วยความรู้สึกว่า เป็นเนื้อนาบุญ
บริโภคอย่างเป็นผู้ให้ โปรดญาติโยมให้พ้นจากความทุกข์ ช่วยปิดอบายเปิดประตูสวรรค์ให้กับญาติโยม
ทำความปรารถนาของญาติโยมให้สมหวัง คุ้มกับที่ได้เหน็ดเหนื่อย และก็ได้นำปัจจัย ๔
อันควรแก่สมณะบริโภคนี้มาถวายเรา เราก็จะมีความรู้สึกว่า เราบริโภคด้วยความไม่เป็นหนี้
มีแต่ความรู้สึกที่สูงส่งในฐานะเป็นผู้ให้ ผู้ให้จะมีจิตใจที่อิ่มเอิบ เบิกบาน
ปีติสุขหล่อเลี้ยงใจของตัวเองอยู่ตลอดเวลาเลย จะมีความองอาจสง่างาม
มีความภาคภูมิอยู่ในใจของตัวเองในทุกอนุวินาที
ความรู้สึกอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อลูกได้หยุดใจนิ่งๆ
นุ่มๆ อย่างเบาๆ สบายๆ สม่ำเสมอ ใจเย็นๆ แล้วความรู้สึกนี้จะค่อยๆ
ถูกสั่งสมเพิ่มขึ้นในทุกครั้งที่เรากำลังฝึกให้โอกาสตัวเองฝึกฝนอบรม ฝึกไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งถึงจุดแห่งความสมบูรณ์ ที่สมาธิที่สั่งสมมาทีละเล็กทีละน้อยก่อตัวขึ้น
เหมือนปลวกที่ขนดินทีละเล็กน้อยก่อเป็นรังขึ้น จิตก็จะฟอร์มตัวก่อตัวขึ้นเป็นดวงใสๆ
ที่เราเห็นได้ เป็นแสงสว่าง แล้วจิตก็ดำเนินเข้าไปสู่ภายในไปตามลำดับ เห็นชีวิตที่สลับซับซ้อนอยู่ภายใน
กระทั่งเข้าถึงกายธรรม
วันใดเข้าถึงพระในตัวได้ จนกระทั่งมั่นคง เห็นชัดใสแจ่มตลอดเวลา
ทั้งหลับตา ลืมตา นั่ง นอน ยืน เดิน วันนั้นเราจะมีความปลื้มปีติสุข และความรู้สึกว่าเป็นผู้ให้ที่สมบูรณ์ขึ้น
ก็จะบังเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว
ในช่วงนี้เป็นช่วงการเตรียมตัวที่จะบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้นให้ลูกเณรธรรมทายาท ให้ตั้งใจประคับประคองใจไปให้ใสๆ ฝึกขึ้นไปเรื่อยๆ
นะลูกนะ
ส่วนลูกหญิงลูกชาย
อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายก็ตั้งใจทำใจให้ใสๆ
ให้ถูกหลักวิชชาก่อนที่เราจะสร้างมหาทานบารมี จะต้องปลื้ม ใจจะต้องใสๆ
ความใสของใจจะทำให้ปลื้มง่าย ปีติง่าย บุญก็จะเกิดขึ้นได้อย่างมากมาย ใจจะใสได้ก็ต้องหยุดนิ่งนี่แหละ
ให้ลูกทุกคนนะประคับประคองใจกันไปเรื่อยๆ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565