ทิ้งทุกสิ่งหยุดได้
ดังใจ
พบสุขในทันใด
แต่นั้น
หนทางสว่างกลางใส
ทะลุโล่ง
พระผุดเป็นชุดชั้น
ต่อเนื่องเป็นสาย
ตะวันธรรม
ง่ายจึงจะถูกวิธี
อาทิตย์ที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.21| :ง่ายจึงจะถูกวิธี
ให้ปลดปล่อยวาง ให้คลายความผูกพันในช่วงที่เราจะนั่งสมาธิเจริญภาวนา ให้ใจของเราทิ้งทุกอย่าง
วางทุกสิ่ง แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของเรา
อีกทั้งที่สำคัญคือเป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน
จะต้องเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้นะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายพระอรหันต์ทุกพระองค์เริ่มต้นหยุดใจตรงนี้เรื่อยไปเลย
หยุดอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เราต้องทำความรู้จักเอาไว้
เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญที่เราจะต้องเอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ อยู่ที่ตรงนี้
ไม่ว่าเราจะทำภารกิจอะไรก็ตามทั้งทางโลกและทางธรรม
โดยเฉพาะทางธรรมจะทำทาน
ก็ต้องเอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้ทำน้อยก็จะได้บุญมาก จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง
ก็ต้องเอาใจมาอยู่ที่ตรงนี้ เพราะศีลนั้นบังเกิดขึ้นที่ตรงนี้ รักษาคือ ทำให้อยู่
ใจของเราก็ต้องอยู่ตรงนี้
จะเจริญภาวนาซึ่งเป็นต้นทางแห่งมรรคผลนิพพานก็ต้องเอาใจมาอยู่ที่ตรงนี้ ฐานที่ ๗ จึงเป็นที่ตั้งของใจเรา
เป็นตำแหน่งที่สำคัญ ที่ลูกทุกคนจะต้องเอาใจใส่
เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ให้ได้ทุกวันทุกคืนทั้งวันทั้งคืน
แล้วความบริสุทธิ์ก็จะบังเกิดขึ้นกับเรา
คราวนี้เราก็นึกถึงพระธรรมกายประจำตัวเป็นบริกรรมนิมิตให้นึกอย่างเบา
ๆ สบาย ๆ นึกง่าย ๆ เหมือนเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย นึกอย่างง่าย ๆ แล้วเราก็จะได้อย่างง่าย ๆ
นึกธรรมดา เพื่อให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจของเราเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังในใจเบา ๆ
สมํ่าเสมอ ไม่เร็วไม่ช้านัก ทุกครั้งที่ภาวนา สัมมาอะระหัง
เราจะต้องไม่ลืมตรึกระลึกนึกถึงองค์พระธรรมกายประจำตัวของเราอย่างเบา ๆ สบาย ๆ
ง่าย ๆ ใจเย็น ๆ ประคองใจกันไปอย่างนี้ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง
พอใจหยุดนิ่งมันก็จะทิ้งคำภาวนาไปเอง
ใจของเราก็จะเหลือแค่การตรึกระลึกนึกถึงพระธรรมกายประจำตัว โดยไม่คิดเรื่องอื่นเลย
เราก็จะนึกเห็นองค์พระได้ชัดเจนอยู่ในกลางกาย ให้นึกง่าย ๆ เบา ๆ สบายๆ ใจเย็น ๆ
สำคัญที่หลับตาให้เป็นด้วย
ถ้าหลับตาเป็นการนึกถึงภาพองค์พระธรรมกายประจำตัวจะง่าย
อย่าปิดตาแบบใช้กำลัง เหมือนเราปรือ ๆ ตาเบา ๆ จะทำให้เรานึกได้ง่าย
เราต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า ตลอดเส้นทางสายกลางภายใน
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ เป็นเส้นทางที่ไม่ทุรกันดาร
เป็นเส้นทางของผู้มีบุญ เพราะฉะนั้น มันจะง่าย คำว่ายากไม่มีเลย ง่าย ง่ายมาก
จนกระทั่งไปถึงง่ายแสนง่าย ถ้าเริ่มยาก เริ่มตื้อ ๆ ตัน ๆ เกร็งหรือตึง ก็แปลว่า
เราทำไม่ถูกหลักวิชชาแล้ว
เรื่องยากมีเฉพาะตอนเราลืมตาทำกิจกรรม ทำมาหากินทำมาค้าขาย
นั่นแหละเรื่องยาก มีปัญหา มีแรงกดดัน
แต่เมื่อเราหลับตาทำภาวนานี้มันมีแต่เรื่องง่าย ๆ
ซึ่งกลับตาลปัตรกันอย่างนี้ระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายใน เหมือนเส้นผมบังภูเขา
เราต้องศึกษาให้เข้าใจว่า ความจริงมันเป็นอย่างนี้
ถ้าเราหลับตาแล้วเริ่มยาก เริ่มทุรกันดาร เริ่มยากเข็ญ
เริ่มควานหาองค์พระ แปลว่าเราทำไม่ถูกหลักวิชชาแล้ว ไม่ใช่เส้นทางผู้มีบุญ
หลวงพ่อขอยืนยันว่ามันง่าย
และก็ไม่เชื่อว่าใครจะทำไม่ได้นอกจากคนขาดสติ คนบ้า คนเมา คนตายแล้ว เป็นต้น
เพราะฉะนั้นลูกทุกคนสามารถทำได้อย่างง่าย ๆ แต่ต้องเอาใจใส่ ต้องขวนขวาย
ต้องมีฉันทะ สมัครใจที่จะเข้าถึง ปรารถนาที่จะได้รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
อยากหลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริงนั่นแหละมันจึงจะได้
อุปสรรคช่วงแรก ๆ ก็จะมีแต่เรื่องฟุ้งเป็นหลักกับตั้งใจมากเกินไป
ส่วนเรื่องหลับ เรื่องอะไรต่าง ๆ ยังเป็นเรื่องรองลงมา
ถ้าใจเราไม่ฟุ้งไปคิดในเรื่องคน สัตว์ สิ่งของก็ง่าย
ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ค่อย ๆ ฝึกฝนไป
พึงจำไว้ว่าตลอดเส้นทางสายกลางภายใน เส้นทางไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจอันสูงสุดอย่างที่เราไม่เคยเจอ
ต้องง่าย
เราก็ทำใจให้เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีองค์พระธรรมกายประจำตัวที่เราสร้างเอาไว้เป็นตัวแทน
นึกอย่างง่าย ๆ นะลูกนะ ถ้าเริ่มยาก แปลว่าเราเริ่มบีบเปลือกตาแล้ว
กดลูกนัยน์ตาแล้วแต่ถ้าหลับตาเบา ๆ ผ่อนคลายสบาย อย่างที่เคยบอกบ่อย ๆ ซํ้า
ๆนั่นแหละ ถ้าทำอย่างนั้นได้ เดี๋ยวก็จะได้อย่างง่าย ๆ
เช้านี้อากาศแจ่มใสเย็นสบาย
เหมาะสมที่ลูกผู้มีบุญทุกคนจะได้ประกอบความเพียร จะได้เข้าถึงพระธรรมกายประจำตัว
ขอให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุก ๆ คนนะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565