วิชชา ๓
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน
พ.ศ. ๒๕๕๔ (๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย – ปรับใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ทำใจให้เบิกบาน
แช่มชื่น สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ให้ปลดปล่อยวาง คลายความผูกพัน ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
วางใจ
รวมใจกลับเข้ามาสู่ภายในตัวของเรา
ให้ไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ผ่อนคลาย
ใจเย็นๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
ฐานที่ ๗ ตำแหน่งหยุดใจของพระอริยเจ้า
ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ เป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน เป็นตำแหน่งที่หยุดใจของเรา เป็นตำแหน่งที่สำคัญมากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน
ไม่มีเว้นเลยแม้แต่เพียงพระองค์เดียว นำใจกลับมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้
เมื่อท่านทิ้งทุกอย่าง
ปล่อยวางทุกสิ่ง แม้กระทั่งชีวิต ใจก็มาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วก็นำมาถ่ายทอดให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้บรรลุธรรมตามพระองค์
โดยพระองค์ทำอย่างไร ท่านก็สอนให้ทำอย่างนั้น ก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานไปตามส่วนแห่งกำลังบารมีที่ไม่เท่ากัน
แปลว่ามรรคผลนิพพาน อยู่ในตัวของมนุษย์ทุกๆ คนในโลก รวมทั้งตัวของเราด้วย
ตำแหน่งตรงนี้สำคัญนัก
พญามารกันนักกันหนา บดบังไม่ให้เรารู้ตำแหน่งนี้ ดึงใจให้ไปตรึงติดกับสิ่งภายนอก
คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ คน สัตว์ สิ่งของ ลาภ ยศ สรรเสริญ
อะไรเหล่านั้นเป็นต้น แล้วก็เอากฎแห่งการกระทำ กฎแห่งกรรม
ทางกายวาจาใจมาบังคับบัญชาให้ตกเป็นบ่าวเป็นทาสของเขามาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
ตรึงไปติดกับสิ่งภายนอกที่ไม่เป็นสาระแก่นสารของชีวิต
ให้หมกมุ่นเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งนั้น ให้เข้าใจผิดว่า สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารของชีวิต
ในเวลาเดียวกันก็เอาความแก่ ความเจ็บ
ความตาย เข้ามาบังคับบัญชาอีก กายก็แก่ไปเรื่อยๆ สังขารก็เสื่อมโทรมไป
เอาความเจ็บมาให้ กระทั่งถอดกายได้ในที่สุด ก็หมดเวลาของชีวิตกันไปอีกชาติหนึ่ง
ถ้าเกิดโดนบังคับบัญชามาก
ก็จะประมาทในการดำเนินชีวิต
หรือดำเนินชีวิตแบบผู้ไม่รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
ก็จะต้องพลัดไปในอบายภูมิ ไปสู่มหานรก เสวยทุกข์ทรมานยาวนานมาก ไปสู่อุสสทนรก
ยมโลก เมื่อกรรมเบาบางก็เป็น เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
แล้วก็กลับมาเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่รู้เรื่องราวอย่างเดิม
ชีวิตก็วนเวียนกันไปอยู่อย่างนี้
กระทั่งมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ความจริงของชีวิตก็ถูกเปิดเผย เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตาม
เป็นผู้มีศีลมีธรรม ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น
จนกระทั่งใจกลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม เมื่อเห็นทุกข์โทษภัยของชีวิตในวัฏสงสาร ที่เวียนเกิดเวียนตายอยู่ด้วยความไม่รู้เรื่องราวเหล่านั้น
เมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งก็เบื่อหน่าย คลายความผูกพัน เมื่อคลายก็หลุดจากสิ่งภายนอกซึ่งทำให้อารมณ์หยาบ
จิตหยาบ ใจก็กลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นิ่งอย่างเดียว
เส้นทางพระอริยเจ้า
จนกระทั่งถูกส่วนก็ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน
ธรรมก็เกิดขึ้นเป็นดวงใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ใสบริสุทธิ์เหมือนน้ำใสๆ บ้าง
เหมือนกระจกคันฉ่องที่ส่องเงาหน้าบ้าง หรือใสเหมือนเพชรใส ๆ
แล้วก็มีแสงสว่างบังเกิดขึ้นเจิดจ้าอยู่ภายใน
เป็นแสงส่องทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องของพระอริยเจ้า ความสุขก็บังเกิดขึ้น
สุขที่จินตนาการไปไม่ถึง ความสุขที่เรายอมรับว่าเป็นความสุข
เพราะแตกต่างจากชีวิตที่ผ่านมา
ที่เจอคน สัตว์ สิ่งของ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ใจก็ยิ่งตั้งมั่น
นิ่ง แน่น ความบริสุทธิ์ของใจก็เกิดขึ้น ใจที่หยุดนิ่งก็ถูกกลั่นให้บริสุทธิ์
จนเห็นความบริสุทธิ์ได้ เป็นดวงใสๆ ธาตุในตัวก็บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ดิน น้ำ ลม ไฟ
วิญญาณ อากาศธาตุ ทั้งธรรม คือ เครื่องรองรับธาตุต่างๆ เหล่านั้น และก็เห็น จำ คิด รู้ ก็บริสุทธิ์ตามไปด้วย กาย
วาจา ใจ ก็ใสสะอาดบริสุทธิ์
เมื่อใจบริสุทธิ์ก็ร่อนออกจากสิ่งที่เคยติดยึด
พอหลุดก็พ้น ก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน เป็นแนวดิ่งลงไปในเส้นทางสายกลางภายใน
ซึ่งเป็นเส้นทางของพระอริยเจ้า หรือเส้นทางไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า
ใจเคลื่อนเข้าไปข้างในโดยผ่านจุดกึ่งกลางของดวงใสๆ ดวงแรก คือ ปฐมมรรค
ถูกส่วนก็ขยายกว้างออกไป แล้วก็เข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ ไปตามลำดับ คือ ดวงศีล
ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ซึ่งซ้อนๆ กันอยู่ภายใน ซ้อนซึ่งกันและกันอยู่ภายในเป็นชั้นๆ
เข้าไป
ใจที่เคลื่อนผ่านดวงธรรมเหล่านี้
จะถูกกลั่นให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น จนกระทั่งเชื่อมเข้าไปถึงกายละเอียดที่อยู่ภายใน
เป็นชีวิตภายในที่อยู่ในระดับลึก สลับซับซ้อนเข้าไปตามลำดับ
ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์หยาบ
กายทิพย์หยาบก็ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด
กายทิพย์ละเอียดก็ซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์หยาบ เป็นคู่ๆ เข้าไปอย่างนี้
จากกายหนึ่งไปถึงอีกกายหนึ่ง
ก็ถูกเชื่อมด้วยธรรม ๖ ดวงดังกล่าว แต่ว่าสุกใสสว่างบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น
กระทั่งเข้าถึงกายรูปพรหมหยาบละเอียด อรูปพรหมหยาบละเอียด และเข้าถึงกายธรรม กายธรรมโคตรภูหยาบละเอียด
ที่ใสบริสุทธิ์เจิดจ้ากว่าทุกๆ กาย ทุกๆ ชีวิตที่ผ่านมา
เป็นกายที่สวยงามที่สุดกว่ากายในภพสาม เกตุดอกบัวตูม เหมือนดอกบัวสัตตบงกช เล็กๆ
ไม่ใหญ่ไม่เล็ก พอดีๆ กายนั้นใสเกินความใสใดๆ ในโลก ทุกกายอยู่ในอิริยาบถของสมาธิ
หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา
กายธรรม คือ พุทธรัตนะ
เป็นตัวพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของตัวเรา
เมื่อเข้าถึงแล้วความสุขก็เกิดขึ้น ยามมีทุกข์ภายนอก
เมื่อเข้าไปถึงข้างในทุกข์นั้นก็ดับไป เข้าถึงแล้วก็อบอุ่นใจ ปลอดภัยในอบาย
ในสังสารวัฏ องค์พระก็จะสว่างไสว ทำให้ความรู้เกิดขึ้น เช่น วิชชา ๓
วิชชา ๓
วิชชาที่
๑ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติหนหลังของตัวเราได้
การเห็นชีวิตของเราที่ผ่านๆ มา ทำให้เกิดสลดใจ เกิดธรรมสังเวชว่า ชีวิตเราเกิดมาเป็นอะไรต่ออะไรตั้งหลายอย่างแล้ว
ถ้าประมาทในการดำเนินชีวิต ชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็ตกต่ำ
ถ้าไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ชีวิตก็สูงส่ง เกิดเป็นอะไรต่ออะไรกันเยอะแยะ
เห็นได้ด้วยตัวของตัวเอง
เมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกาย เพราะท่านมีธรรมจักขุ
มีดวงตาที่เห็นรอบตัวทุกทิศทุกทาง มีญาณทัสสนะ เห็นถึงไหนก็รู้ถึงนั่น
ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง เรียกว่า ตรัสรู้ ก็บังเกิดขึ้น
เห็นเรื่องราวของตัวเองตลอด
ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง
ดิ่งเข้าไปเรื่อยๆ การรู้เห็นเรื่องราวของตัวเองก็กว้างขวางแจ่มชัดขึ้น
เก็บรายละเอียดได้มากขึ้น เห็นเรื่องราวไปโดยตลอด
ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง
ยิ่งดิ่งไม่หยุดไม่ยั้งไปเรื่อยๆ ก็จะสาวไปเรื่อยๆ ว่า ก่อนมาเกิดในชาตินี้มาจากไหน
ก็จะสาวไปได้ตามกำลังแห่งบารมีและการหยุดนิ่ง นิ่งแน่นแค่ไหน ใจยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง
ยิ่งบริสุทธิ์ ก็ยิ่งดิ่งเข้าไปเรื่อย เห็นกว้างขวางไปเรื่อยๆ พอทบทวนทำซ้ำๆๆ ก็ชำนาญขึ้น
คล่องขึ้น สาวไปทีละชาติ หลายๆ ชาติ ไปเรื่อยๆ กระทั่งเป็นพุทธันดร หลายๆ พุทธันดร
ก็สาวไปเรื่อยๆ ยิ่งนิ่งแน่น ยิ่งดิ่งเข้าไปเรื่อยๆ
นี่เป็นวิชชาที่ ๑
บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ที่ไม่มีการสอนในสถาบันใดๆ
ในโลก มีอยู่ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การได้เห็นชาติหนหลัง ทำให้เกิดความสลดใจ
จะเบื่อหน่ายชีวิตในการเวียนว่ายตายเกิด ในภพทั้ง ๓ ในวัฏสงสาร
วิชชาที่
๒ จุตูปปาตญาณ
จะเห็นภพภูมิต่างๆ ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก เห็นด้วยธรรมจักขุ รู้ด้วยญาณทัสสนะของพระธรรมกาย
เมื่อใจเรานิ่งแน่นนุ่มนวลควรแก่การงานแล้วก็น้อมไป
แวบเดียวเห็นเรื่องภพภูมิต่างๆ ทั้งกามภพ รูปภพ อรูปภพ กามภพก็มีภพมนุษย์ ภพอบาย
เห็นมหานรก ๘ ขุมใหญ่กับขุมบริวารต่างๆ เห็นการทัณฑ์ทรมานของสัตว์นรก
เห็นการหลุดพ้นเพราะหมดวิบากหมดกรรมแล้ว ค่อยๆ เปลี่ยนภพภูมิ โทษหนักเป็นโทษเบา
เรื่อยๆ ไป เห็นได้ตลอด
กระทั่งเปรต
อสุรกาย สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน แล้วก็ภูมิของมนุษย์ ภูมิของภุมมเทวา รุกขเทวา
อากาสเทวา สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี
ปรนิมมิตวสวัตดี ไม่ใช่เห็นอย่างเดียว
ไปจับมือถือแขนพูดคุยกับผู้ที่อยู่ตรงนั้นได้ด้วยธรรมกาย
เห็นทั้งบุพกรรมที่นำไปสู่ภพภูมินั้น
พรหม ภพของรูปพรหม
เห็นปฏิปทาข้อปฏิบัติ ประกอบเหตุอย่างไรจึงมาอยู่ภพภูมินี้
อยู่ภพภูมินี้มีลักษณะประณีตอย่างไร รู้สึกอย่างไร ภพของอรูปภพ อรูปพรหม เห็นได้ด้วยธรรมจักขุ
และญาณทัสสนะของพระธรรมกาย ก็เห็นเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้
วิชชานี้เกิดขึ้นเห็นสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เป็นมิจฉาทิฏฐิสุดโต่ง
ไปเกิดอยู่นอกภพสาม ในโลกันตนรก เป็นอีกภพหนึ่ง นี่ก็อยู่ในวิชชาจุตูปปาตญาณ และก็เห็นทวีปใหญ่ ทวีปน้อย รอบเขาพระสุเมรุ รอบเขาสัตตบรรณ
ถ้าหากมีกำลังบารมีมากยิ่งขึ้น
สั่งสมหยุดนิ่งมากไปเชื่อมกับบุญเก่าได้ การเห็นก็กว้างไกลลงไปอีก
นอกจากจักรวาลนี้ ก็เห็นจักรวาลอื่น นอกจากโลกนี้ ก็เห็นโลกอื่น จะเข้าใจคำว่า
หมื่นโลกธาตุ แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาลเพิ่มขึ้น ก็สาวกันไปอย่างนี้
วิชชาที่
๓ อาสวักขยญาณ
เห็นกิเลสอาสวะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลส ๓ ตระกูลนี้ ได้ยินมานาน ลักษณะเป็นยังไง
มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ตามความหยาบละเอียดของกิเลส มีมาก มีน้อย หนักเบา เจือจาง
และก็เห็นมรรค ขจัดกิเลสอย่างไร มรรคมีลักษณะเป็นอย่างไร เวลาเข้าไปฆ่ากิเลส มันทำยังไง
ก็จะเห็นเป็นเรื่องเป็นราวไป
กระทั่งขจัดหมดสิ้น
เมื่อหมดสิ้นการเวียนว่ายตายเกิดก็ดับ เชื้อแห่งการเกิดในวัฏฏะหมดไปด้วย หมดก็เห็นว่า
หมด พ้นก็เห็นว่า พ้น เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะ คือ เห็นว่าพ้นจริงๆ
พ้นการเวียนว่ายตายเกิด ชาติภพสิ้นแล้วไม่ต้องไปเกิดในภพภูมิใด เพราะเชื้อแห่งการเกิดหมดแล้ว
กิเลสอาสวะหมดแล้ว ภพต่อไปไม่มีอีกแล้ว
หมายถึงที่จะดูดให้ไปเกิดในภพภูมินั้น
มันไม่มีเชื้อแล้ว หมดสิ้นไปแล้ว เหมือนเมล็ดผลไม้ที่ไม่อาจงอกได้
เหมือนข้าวสารมาเป็นข้าวสุก ข้าวสวย ที่ไม่งอกใหม่แล้ว ข้าวสุก ข้าวสวย ข้าวต้ม
แล้วก็ตกกระแสพระนิพพาน
เข้าพระนิพพานในตัว ในกายของกายธรรมอรหัต องค์ที่สุด
อยู่ในบรมสุขนั้นจนหมดอายุขัยของสังขาร หยาบก็ดับ ขันธ์ทั้งหมดดับหมด
เหลือแต่ธรรมขันธ์ของกายธรรมองค์สุดท้าย อรหัตตผลเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากหยุดนิ่ง
เดินตามรอยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในใจในกลางมีแต่องค์พระที่ผุดผ่านซ้อนกันลงมาหนาแน่น
ที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่กลับคืน อภิญญาก็เกิดขึ้นกับผู้ที่เข้าถึง ณ จุดดังกล่าวแล้ว
นี่ก็เป็นเรื่องของภาคโปรด แต่ภาคปราบนี่ มโนปณิธานยิ่งกว่านี้ ก็ไปอีกไปเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้น อย่าทิ้งการปฏิบัติธรรมนะ
ถึงแม้เราจะไปไม่ถึงจุดดังกล่าวนี้ก็ตาม
แต่อย่างน้อยก็เข้าถึงสรณะที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา มีสุขในปัจจุบัน ตัดรอนวิบากกรรม
วิบากมาร หนักเป็นเบา เบาเป็นหาย ร้ายกลายเป็นดี
เราก็หยุดนิ่ง
ให้ใจชุ่มๆ อยู่ตรงกลางใสๆ บุญต่างๆ ที่เราทำผ่านมา จะได้มาปรากฏตรงกลางกาย
มาซ้อนอยู่ตรงกลางที่ใสบริสุทธิ์ เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข
และความสำเร็จในชีวิตของเรา
ชีวิตของคฤหัสถ์จะทำอย่างนี้ก็ได้
แต่ยุ่งยากกว่าชีวิตของบรรพชิต เพราะคฤหัสถ์ยังมีเครื่องพันธนาการของชีวิต
แต่บรรพชิตเหมือนนกที่บินไปในอากาศ มีแต่ปีกกับหางก็โผผินบินไปในอากาศได้
เป็นอิสระได้
เดินธุดงค์แบบพระอริยเจ้า
ลูกพระธรรมทายาทกำลังจะออกเดินธุดงค์
ก็อย่าสักแต่ว่าเดินไปอย่างนั้น หรือคิดแต่เพียงว่า เราเดินทางไกลเหมือนลูกเสือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้นนะ
ทุกย่างก้าวต้องเดินแบบสายโลหิตแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เดินไปก็ตรึกนึกถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไปเรื่อยๆ เดินแบบพระอริยเจ้า
แม้เรายังไม่ได้เป็นก็ตาม ประดุจดอกบัวผุดขึ้นมารองรับทุกย่างก้าว
เดินแบบเนื้อนาบุญ ผู้มีหัวใจอันประเสริฐ ที่ริบสายตาของชาวสวรรค์ ทิพยจักขุ
ดวงตาสวรรค์ ให้อยู่ที่เนื้อนาบุญ ด้วยความชื่นชม อนุโมทนาสาธุการ ริบสายตาของชาวบ้าน
ญาติโยม ให้ใจหลุดจากบาปอกุศลธรรมมาสู่บุญกุศล
เพราะเห็นเนื้อนาบุญกำลังเดินธุดงค์อย่างทระนง องอาจ สงบเสงี่ยม สง่างาม
เวลาที่เหลืออยู่นี้
ให้ลูกทุกคนประกอบความเพียรให้ใจใสๆ ให้ใจหยุด นิ่งๆ นุ่มๆ จะได้ไปอาราธนามหาปูชนียาจารย์
พระนิพพาน มาคุมบุญให้พวกเราในทุกๆ บุญที่ทำผ่านมา
กระทั่งช่วยกันสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ให้สำเร็จบริบูรณ์
เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์เทวดาและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต่างคน ต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565