เข้าถึงธรรมได้วิเศษที่สุด
วันอาทิตย์ที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ (๑๕.๐๐ - ๑๖.๓๐ น.)
ห้องแก้วสารพัดนึก วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย-ปรับใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ต้องสบาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย เพราะร่างกายต้องสบาย
แล้วก็ทิ้งทุกอย่าง
ปล่อยวางทุกสิ่ง ให้ใจเรานิ่งอย่างเดียว ไม่ให้ไปเกาะ ไปเกี่ยว ไปเหนี่ยว ไปรั้ง เรื่องอะไรเลย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน
เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ทำใจให้ว่างๆ เกลี้ยงๆ ใสๆ
ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ นะจ๊ะ
หาจุดสบายให้เจอ
เราให้เวลากับตรงนี้สัก
๒ นาที ในการปรับความสบาย ทั้งการปิดเปลือกตา การผ่อนคลายร่างกาย การทำใจให้ใสๆ เกลี้ยงๆ
อย่ามองข้ามเรื่องนี้ไปนะจ๊ะ เราจะได้ไม่เสียเวลาในการหาจุดสบายให้เจอ
จุดสบายจะได้เมื่อเราผ่อนคลายทุกส่วนดังกล่าวนั้น
และเมื่อเราหาจุดสบายได้ ก็เป็นสัญญาณว่า
เราจะต้องสมหวังในการเข้าถึงธรรมอย่างแน่นอน
จุดสบาย คือ จุดที่เรามีความรู้สึกพึงพอใจ และก็ชอบอยู่กับอารมณ์อย่างนี้ไปนานๆ
นานแค่ไหนก็ได้ แม้จะไม่มีอะไรมาให้ดู แต่ก็อยากอยู่กับอารมณ์นี้ไปนานๆ
เพราะมันสบายทั้งกายและใจ นี่คือสัญญาณแห่งความสมปรารถนาของเราบังเกิดขึ้นแล้ว
สบายตรงไหน
เอาตรงนั้นไปก่อน
สบายตรงไหน เราก็เอาตรงนั้นไปก่อน
ตั้งแต่ไกลตัว ใกล้ตัว กระทั่งถึงกลางตัว หาจุดสบายตรงไหนให้เจอ
หรือจะยึดถือเอาฐานทางเดินของใจ
ตั้งแต่ปากช่องจมูก ตรงนี้สบายไหม หัวตา กลางกั๊กศีรษะ เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก
กลางท้องของเราในระดับสะดือ กระทั่งเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ทั้ง ๗ ฐาน เราสบายฐานไหน
ก็เอาตรงนั้นไปก่อน คือ เอาใจของเราไปอยู่ที่ตรงนั้น แต่เป้าหมายของเราจะไปที่ฐานที่
๗ ให้อยู่ตรงนี้ด้วยความพึงพอใจ
เราชอบ เราสบาย อารมณ์เราแจ่มใส จะนึกนิมิตก็ง่าย หรือไม่นึกอะไรเลย เราก็ชอบ
จุดสบายจะเป็นอย่างนี้
เมื่อกายสบาย
ใจสบาย บุญจะได้ช่อง
สบายตรงไหนเอาตรงนั้นไปก่อน
แล้วก็ทำซ้ำๆๆ ให้สติกับสบาย ไปด้วยกัน อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง เดี๋ยวพอถูกส่วนมันก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในเองเลย
ความสุขก็จะได้ช่องเข้ามา ความบริสุทธิ์ก็ได้ช่อง เพราะใจเราสบาย กายสบาย
แสงสว่างก็ได้ช่อง ธรรมะก็ได้ช่อง บุญก็ได้ช่องเข้ามาได้อย่างง่ายๆ
ตรงที่เราสบายทั้งกายและใจตรงนี้ ตรงฐานไหนก่อนก็ได้ แล้วก็ฝึกทำซ้ำๆๆ
ให้คล่องให้ชำนาญ
หมั่นสังเกต
แล้วก็หมั่นสังเกตว่า ที่เราทำได้สบายอย่างนี้
เราทำอย่างไร หรือวันนี้ไม่ค่อยสบายเพราะอะไร เราไปกดใจเราหรือเปล่า ไปกด ไปเน้น
ไปเค้น ไปแช่ กดใจ เค้นภาพ เน้นให้ชัดอะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
แล้วก็แช่ไว้ตรงนั้น จนกระทั่งมันไม่ไปไหนต่อ หรือไปไหนต่อไม่ได้อย่างนั้น ความสุขก็ไม่มี
แม้เห็นภาพภายใน นี่คือข้อสังเกตเรา เราก็ปรับ ปรับไปสู่จุดสบายให้ได้
ถ้าวันไหนสบาย
เราก็ให้สังเกตดู ก่อนนั่งเรานึกถึงเรื่องบุญ เรื่องธรรมะ หรือเรื่องอะไรต่างๆ
หรือนิมิตที่เรานึก จนกระทั่งทำให้เราอารมณ์สบาย อารมณ์ดี ทำให้การนั่งง่าย
ก็ให้สังเกต
สังเกตอย่างนี้ทุกวัน
ทำให้สม่ำเสมอ ทำทุกอิริยาบถแบบไม่มีรอบ จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน เราก็ตรึกตรงจุดที่สบายไว้เรื่อยๆ
หรือจะฝึกวางใจไว้ที่กลางกายฐานที่ ๗ เลยก็ได้
ถ้าเราทำซ้ำๆ
อย่างนี้ มีสติ สบาย สม่ำเสมอ แล้วก็หมั่นสังเกต
ไม่ช้าความสมหวังก็จะบังเกิดขึ้นกับเรา เราจะพบวิธีการของตัวเราว่า เราต้องทำอย่างนี้
แบบนี้ ใจถึงจะมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้อย่างง่ายๆ แสงสว่างเกิดง่าย
ความสุขเกิดง่าย ความบริสุทธิ์ของกายและใจเกิดง่าย ภาพภายในเกิดง่าย เกิดเอง เช่น
เป็นดวงใสๆ เห็นตัวเราเองบ้าง เห็นองค์พระบ้าง
ถ้าเรารักการปฏิบัติธรรม
รักที่จะเข้าถึงธรรม ก็ต้องทำอย่างนี้ ทำทุกอิริยาบถเลย นั่ง นอน ยืน เดิน
ทุกกิจวัตรกิจกรรมของเรา จะเป็นเขตนอกเขตในก็สามารถทำอย่างนี้ได้ และต้องทำด้วย
ถ้าเราปรารถนาที่จะเข้าถึงธรรม
ใจหยุดนิ่ง
พบสุขแท้จริง
ไม่มีอะไรจะวิเศษไปกว่าการเข้าถึงธรรม
ชีวิตจะสมบูรณ์ได้ เมื่อใจหยุดนิ่ง
ทุกสรรพชีวิต
สิ่งที่ปรารถนา คือ ความสุข ดังพุทธพจน์ที่ว่า สุขกามานิ ภูตานิ
สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องการมีความสุขทั้งสิ้น เราก็เช่นเดียวกัน แต่ความสุขที่แท้จริง
มีที่เดียว คือ ที่ใจหยุดใจนิ่ง นัตถิ
สันติปะรัง สุขัง สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงตรัสอย่างนี้
ไม่ว่าจะอยู่โลกนี้ โลกอื่น ตลอดแสนโกฏิจักรวาลอนันตจักรวาล ก็ประโยคเดียวกัน
ความหมายเดียวกัน จะเป็นภาคโปรด ภาคปราบ
พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านก็กล่าวอย่างนี้
สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี คือ ถ้าเราอยากจะได้เจอความสุขที่แท้จริง
ที่เรายอมรับว่า นี่คือความสุข ต้องหยุดกับนิ่ง ฝึกใจให้กลับมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน
ให้กายและใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
วันใดที่กายและใจเป็นหนึ่งเดียวกันได้
ใจอยู่กับตัว หยุดนิ่งอยู่ภายในกลางกาย เราก็จะพบความสุขที่แท้จริง
แต่ถ้าใจไม่หยุด
ไม่นิ่ง แถมวิ่งไม่หยุดยั้ง สิ่งที่เจอก็คือแค่ความเพลิน ซึ่งเราเข้าใจว่า เป็นความสุข
ไม่ว่าจะเปลี่ยนสถานที่ไหน ไปต่างประเทศ ไปโลกหรือจักรวาลไหนก็ตาม
ถ้าใจไม่หยุดไม่นิ่งก็ไม่เจอความสุข อยู่ที่ไหนก็ไม่เจอความสุข
ไปไหนมันก็ไม่เจอความสุข เจอแค่ความเพลินและก็ความเพลีย กลับมาถึงก็ผล็อยหลับไปเลย
เพราะฉะนั้น
ชีวิตมีอยู่แค่ตรงนี้แหละ นัตถิ
สันติปะรัง สุขัง สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี หยุดนิ่งเป็นบรมสุขอย่างยิ่ง
แม้การบังเกิดขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปกครองโลกทั้ง ๔ ทวีปทั้ง ๔ มีรัตนะ ๗
สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ทั้งหลาย อำนาจ วาสนา แต่แล้วชีวิตสุดท้ายก็ต้องออกบวช เพื่อจะแสวงหาความสุขที่แท้จริง
เพราะความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ปกครองทวีปทั้ง ๔ ให้ความสุขที่แท้จริงไม่ได้ ก็ต้องออกบวช
จะเป็นพระราชาสมบูรณ์ไปด้วยพระราชอำนาจ ราชสมบัติอะไรต่างๆ ก็ไม่เจอความสุข
เหมือนอย่างพระมหากัปปินะ
ตอนเป็นพระราชา ไม่อาจจะกล่าวคำว่า สุขจริงหนอ สุขจังเลย จนกระทั่งทิ้งทุกอย่าง วางทุกสิ่ง
วิ่งเข้าวัดมาบวช บวชแล้วฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ เป็นพระแท้ ใจหยุดนิ่งได้
หยุดนิ่งได้ก็เข้าถึงธรรม เมื่อบรรลุธรรมแล้ว พระองค์เสด็จไปตรงไหน เดินตรงไหน
ถึงรำพึงออกมาเลย สุขจังเลย
สุขจริงหนอ
เพราะฉะนั้น
ชีวิตในการเกิดมาแต่ละชาตินี้
ต้องฝึกใจให้หยุดนิ่งให้ได้ นี่คือเป้าหมายอันสูงสุด นอกเหนือจากการทำทาน รักษาศีล
ก็ต้องฝึกใจให้หยุดนิ่งด้วยการเจริญสมาธิดังกล่าว
เพราะฉะนั้นเราอย่าขาดในการทำสิ่งนี้ในทุกๆ วัน ชีวิตของเราถึงจะได้สมบูรณ์ สมความปรารถนา
อานิสงส์บุญบูชาข้าวพระ
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน
เราได้พร้อมใจกันมาประกอบพิธีนำเครื่องไทยธรรม อาหารหวานคาว ซึ่งเป็นของหยาบนี้
อาราธนามหาปูชนียาจารย์ทุกท่าน มีพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร
คุณยายอาจารย์ของเราทั้งสอง คือ คุณยายจันทร์ ขนนกยูง คุณยายทองสุข สำแดงปั้น
อาราธนาให้ท่านมาประกอบวิชชาธรรมกาย
นำเครื่องไทยธรรมดังกล่าวนี้ กลั่นให้เป็นของละเอียดบริสุทธิ์
เท่ากับความละเอียดในอายตนนิพพาน และน้อมนำเครื่องไทยธรรมเหล่านี้
ไปถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ทุกๆ
พระองค์ ไม่ซ้ำพระองค์เลย นับพระองค์ไม่ถ้วน นับพระนิพพานไม่ถ้วน ซึ่งท่านก็เป็นเนื้อนาบุญให้กับเรา
เมื่อท่านอนุโมทนาสาธุการ
สาธุ กระแสธารแห่งบุญก็บังเกิดขึ้นมากมายจากทุกๆ พระองค์
มหาปูชนียาจารย์ก็นำบุญทั้งหมดมารวมไว้ในกลางกายของเรา ให้ติดไปหมดทุกๆ กาย
ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบ กายมนุษย์ละเอียด เรื่อยไปถึงกายทิพย์ พรหม รูปพรหม
กายธรรมโคตรภู พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหัต
ทั้งหยาบทั้งละเอียดทุกๆ กาย ติดไปหมดเลย เป็นดวงบุญใสๆ ติดอยู่ในกลางกาย
แล้วท่านก็ตรวจตราด้วยธรรมจักขุ
ญาณทัสสนะ สาวไปดูวิบากกรรมวิบากมาร อุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิตของเรา
ในวันเวลาที่ผ่านมา ทั้งในภพชาติปัจจุบันและในอดีต สาวไปหมดเลย
เอาบุญนี้ไปแก้ไขวิบากกรรมวิบากมาร อุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิต ทุกข์ โศก โรคภัย
สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ให้ละลายหายสูญไปให้หมด
แล้วก็เอาบุญนี้ไปให้แก่บรรพบุรุษ
บุพการีของเรา ที่เราได้อุทิศบุญนี้ไปให้ท่านเหล่านั้น
ท่านก็ประกอบวิชชาธรรมกายทับทวีไปให้ทั่วถึง ที่มีทุกข์มากก็จะทุกข์น้อย
ที่มีทุกข์น้อยก็จะพ้นทุกข์ ที่มีสุขน้อยก็จะสุขมาก
ที่สุขมากแล้วก็มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
แล้วอาหารทิพย์นี้ก็จะอยู่ที่วิมานของเรา
และที่แจกจ่ายไปตามวิมานต่างๆ พร้อมประกาศว่า เป็นผลทานของพวกเราทั้งหลาย
เป็นทานบารมีของพวกเราทุกๆ คน เพื่อให้บุญนี้ทับทวีเกิดขึ้นไปอีก
แล้วก็เอาบุญมาเชื่อมในปัจจุบันนี้
ให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต ในธุรกิจการงาน ในสิ่งที่พึงปรารถนาทั้งทางโลกทางธรรม
แล้วก็ตั้งหวังส่งไปในอนาคตอีก ให้เราเกิดมาระลึกชาติได้ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย
สร้างบารมีเรื่อยไป ทำแต่ความดีล้วนๆ จนกระทั่งหมดอายุขัย ไปทุกภพทุกชาติ
ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม คือ ผังบุญนี้ติดทั้งแก้ไขในอดีต ติดทั้งปัจจุบัน
และก็ในอนาคต มหาปูชนียาจารย์ทุกท่านประกอบวิชชากันไปอย่างนี้
เราซึ่งเป็นเจ้าของบุญบูชาข้าวพระและบุญอื่นๆ
ในทุกๆ บุญที่เราทำผ่านมาเมื่อเช้านี้ ท่านก็เอามาซ้อนติดกันหมด
เราก็ต้องตามตรึกระลึกนึกถึงบุญนี้ ด้วยการทำใจใสๆ ดังกล่าว ฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง
ให้นิ่งเรื่อยไปเลย เพราะตอนนี้ท่านก็ยังคุมบุญเราอยู่
แม้ว่าเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง แต่มันเป็นเวลาประเดี๋ยวเดียวของท่าน ท่านคุมอยู่ตลอดเลย
ดังนั้น
ณ ช่วงเวลานี้ให้ลูกทุกคน ฝึกใจให้หยุดให้นิ่งนะจ๊ะ ทำใจให้ใสๆ ให้ใจเย็นๆ
นึกถึงบุญทุกบุญ เป็นดวงบุญใสๆ ติดที่กลางกาย เป็นดวงบุญใสๆ ใสบริสุทธิ์
ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย หรืออย่างน้อยก็ใสเหมือนน้ำใสๆ
เหมือนน้ำแข็งใสๆ หรือดวงแก้วใสๆ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565