ตรึกให้ได้ตลอดเวลานะลูกนะ
มองดูพระมองดูดวงช่วงไสว
อิริยาบถทั้งสี่นี้เรื่อยไป
แต่อย่าใช้นัยน์ตาเวลามอง
ทำเหมือนว่าไม่มีหัวและดวงตา
มีเพียงหนึ่งกายาและใจสอง
ค่อยค่อยหยุดค่อยค่อยนิ่งค่อยค่อยมอง
เดี๋ยวจะร้องก้องฟ้า สุขจังเล้ย
ตะวันธรรม
ประโยชน์ของสมาธิ
อาทิตย์ที่
๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔
เสาร์ที่
๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.13| : ประโยชน์ของสมาธิ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดีนะ แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบานแช่มชื่น
ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสไร้กังวลในทุกสิ่ง ให้ปลดปล่อยวาง
คลายความผูกพันจากคนสัตว์สิ่งของ แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบาสบาย แล้วก็ผ่อนคลาย
ให้นึกถึงบุญทุกบุญที่เราทำผ่านมานับภพนับชาติไม่ถ้วน
จนกระทั่งถึงปัจจุบันชาติ รวมทุกๆ บุญ บุญเล็ก บุญน้อย บุญปานกลาง บุญใหญ่
บุญทุกชนิด ทั้งสาธารณกุศลสงเคราะห์โลก สร้างโบสถ์ วิหารศาลาการเปรียญ ทอดกฐิน
ผ้าป่า ปล่อยสัตว์ปล่อยปลา เป็นต้น
รวมมาเป็นดวงบุญใสๆ
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย
สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
ให้นึกเบาๆ อย่างสบายๆ นึกด้วยความปลื้มปีติว่า
วันเวลาที่ผ่านมาเราได้สั่งสมบุญบารมีของเราเอาไว้ ติดอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของเราทั้งในมนุษย์และในเทวโลก
ให้เรานึกอย่างนุ่มๆ นิ่งๆ เบาๆ สบายๆ
อย่าไปเค้นภาพ อย่าไปเน้น ให้นึกอย่างนุ่มนวล แล้วก็ผ่อนคลาย ทำใจให้ใสๆ เย็นๆ
เกิดเราเผลอไปเน้นภาพ เราก็เผยอเปลือกตาขึ้นมานิดหนึ่งเหมือนเราปรือๆ ตา
แล้วก็เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ โดยไม่เสียดาย สิ่งที่เราได้เคยเห็นมาก่อน
และก็เริ่มต้นใหม่ ค่อยๆ นึก นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
เมื่อเราทำซ้ำๆ บ่อยๆ ทุกวันทุกคืน
นานๆ เข้าก็จะเกิด สภาวะจิตที่บริสุทธิ์ จิตจะบริสุทธิ์จากสิ่งเศร้าหมองทั้งหลาย
จนเห็นความบริสุทธิ์ภายในได้ เป็นดวงใสๆ ที่มาพร้อมกับความสุข สุขที่ไม่มีประมาณ
ความสุขนั้นก็จะขยายสู่ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้เราสุขกายสุขใจ
แล้วก็ขยายออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดกระแสแห่งความสุขที่มีอานุภาพ มีพลัง
ที่ทำให้ใครได้เห็นเรา ได้เข้าใกล้เราก็จะพลอยมีความสุขตามไปด้วย
จะประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาว่า
สัมมาอะระหัง ไปด้วยก็ได้ ให้เสียงดังออกมาจากกลางท้องของเรา เหมือนมาจากแหล่งแห่งความสุข
ความบริสุทธิ์ แหล่งแห่งอานุภาพอันไม่มีประมาณ
มาขจัดสิ่งที่เป็นบาปอกุศลให้หมดสิ้นไป เหลือแต่ใจที่ใสๆ เย็นๆ
เราจะประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาอย่างนั้นไปด้วยก็ได้ จนกว่าใจไม่อยากจะภาวนาต่อไป คำภาวนาจะใช้ประคองใจเท่านั้น
เมื่อเราหมดความจำเป็นพอเราสามารถทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่งนิ่งอย่างเดียวได้
เราก็ไม่ต้องประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง อีก
แต่ว่าเมื่อใดใจเราฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น เราจึงค่อยย้อนกลับมาภาวนา
สัมมาอะระหังใหม่ ก็ประคับประคองใจกันไปอย่างนี้
ส่วนใครที่คุ้นเคยกับภาพองค์พระ
ก็จะนึกภาพองค์พระแก้วใสๆ แทนก็ได้ แต่วิธีการนึกต้องแบบเดียวกัน อย่าเน้น
อย่าเค้นภาพอย่าเพ่ง อย่าจ้อง ให้นึกเบาๆ สบายๆ ต้องผ่อนคลาย
เพราะว่าเส้นทางสายกลางภายในนั้น ต้องผ่อนคลาย เป็นเส้นทางแห่งความสุข
จะไม่มีอาการตึงเครียดหรือทุกข์เลย มีแต่สุขที่เพิ่มขึ้นเมื่อเราทำบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ
ชำนาญ ภาพก็จะปรากฏชัดใสแจ่มกระจ่างกลางกาย เป็นดวงใสๆ องค์พระใสๆ
เมื่อเราทำบ่อยๆ ก็คุ้นเคย
ใจก็จะแล่นเข้าไปสู่ภายในกลางของทุกสิ่งที่เราเห็น ถ้าเห็นดวง
ใจก็จะมุ่งเข้ากลางดวง ถ้าเห็นกายภายใน ใจก็จะมุ่งเข้าไปสู่กายภายใน เห็นองค์พระ
ใจก็จะมุ่งไปสู่กลางองค์พระที่ใสๆ เป็นแนวดิ่งลงไป ที่ขยายออกไปทุกทิศทุกทาง
แต่ว่าอย่าไปเน้น อย่าไปกำกับ อย่าไปคิดนำ อย่ากลัวช้า ใจใสๆ
เดี๋ยวจะเคลื่อนเข้าไปเอง แล่นเข้าไปเอง ถ้าถูกส่วนแล้วจะขยายสุขจะเพิ่มขึ้น
แม้เห็นชัดเท่าลืมตาเห็นแล้ว หรือยิ่งกว่าลืมตาเห็นก็ตาม
ก็ยังต้องใช้วิธีการเดิมที่ถูกต้อง คือนิ่งอย่างเดียว อย่างนุ่มๆ สบายๆ
สุขจะเพิ่มขึ้น ภาพก็จะเพิ่มขึ้น ความบริสุทธิ์จะเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าหากเราไปเน้น ไปลุ้น ไปเร่ง
เพ่งหรือจ้องโดยไม่รู้ตัว เราจะสังเกตได้ว่าภาพภายในมันจะชะลอช้าลง
ปริมาณแห่งความสุขก็จะลดลง ลดลงในระดับที่เราไม่ชอบ แล้วถ้าเราจะฝืนดันต่อไปอีก
สุขก็ยิ่งลดลงไปอีก เพราะทำผิดวิธี ทั้งๆ
ที่เราทำถูกมาในระดับหนึ่งแล้วนี่สำคัญนะลูกนะ
เวลาไปอยู่ที่บ้านเราไปนั่งส่วนตัวตามลำพัง ต้องจำวิธีการนี้เอาไว้ให้ดีนะ
ปีนี้เราจะต้องปฏิบัติธรรมให้ดีกว่าปีที่ผ่านมา
เนื่องจากวันเวลาที่เหลืออยู่ข้างหน้านี้สั้นลงไปทุกวัน
มรณภัยจะมาถึงเราเมื่อไรก็ไม่ทราบ เราจะพลัดพรากจากกายหยาบนี้
ในโลกใบนี้เมื่อไรก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นดีที่สุดก็คือ
ฝึกใจให้หยุดนิ่งอย่างถูกหลักวิชชาให้มีสติ สบาย และสม่ำเสมอ
แล้วก็หมั่นสังเกตว่าเราทำอย่างไรใจถึงแล่นเข้าไปสู่ภายในเรื่อยๆ
ทำอย่างไรใจถึงถอนออกมา แล้วเราก็ค่อยๆ ปรับปรุงวิธีการให้ถูกหลักวิชชา
ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้า ถ้าทำได้อย่างนี้
เป็นบรรพชิตก็จะบวชอยู่อย่างมีความสุข
มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจไปทุกวันทุกคืนไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งใจเราได้เลย
ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็จะมีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจเช่นกันแม้ว่าจะต้องทำมาหากิน
ทำมาค้าขาย ทำมาสร้างบารมี จะมีปัญหาแรงกดดันอะไรมา หนักก็จะเป็นเบาเบาก็จะหาย
ร้ายก็จะกลายเป็นดี ดีอยู่แล้วก็ดีเพิ่มขึ้นเป็นดีเลิศ
เพราะฉะนั้นต้องหมั่นฝึกฝนไปเรื่อยๆ นะลูกนะ หมั่นฝึกหยุดฝึกนิ่ง นุ่มๆ ให้ใสๆ
อย่าให้ขาดเลยแม้แต่เพียงวันเดียว
ถ้าเราทำได้คล่อง ได้ชำนาญแล้ว บ่อยๆ
ซ้ำๆ จนชำนาญ ต่อไปเราก็จะได้ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้วิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
ให้หายสงสัยด้วยตัวของเราเอง
เพราะยังมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเราที่ยังเป็นความลับของเราอยู่ เราจะต้องทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นความลับของเราอีกต่อไป
โดยเฉพาะอย่างน้อยต้องให้รู้จักว่า
ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ภายในตัวของเรานี่เอง
ภายในมีแสงสว่างส่องทางชีวิตที่เห็นได้เข้าถึงได้ และมีความแตกต่างจากแสงภายนอก
และแสงสว่างที่ส่องทางชีวิตนี้ทำให้เราเห็นชีวิตอีกหลายระดับ
ที่แต่ก่อนเป็นความลับของเราก็จะถูกเปิดเผย
เมื่อเราได้เห็นชีวิตของกายมนุษย์ละเอียด
ที่แตกต่างจากชีวิตของกายมนุษย์หยาบ
เห็นชีวิตของกายทิพย์
ที่แตกต่างจากชีวิตของกายมนุษย์ละเอียด
เห็นชีวิตของกายรูปพรหม
ที่แตกต่างจากกายทิพย์
เห็นชีวิตของกายอรูปพรหม
ที่แตกต่างจากชีวิตของกายรูปพรหม
เห็นชีวิตของพระธรรมกายที่แตกต่างกว่าทุกๆ
ชีวิตที่ผ่านมา
จะแจ่มแจ้งหายสงสัยด้วยตัวของเราเอง
รู้จักเนื้อหนังแท้ๆ ของพระรัตนตรัยคืออะไร ไม่ใช่ได้ยินแค่ชื่อ
แต่เข้าถึงได้และเห็นได้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่านได้
เราจะรู้จักคำว่า “พุทธรัตนะ”
ทำไมเอาคำว่า “พุทธะ” มาเกี่ยวกับคำว่า
“รัตนะ” เราจะหายสงสัย แล้วก็แจ่มแจ้งขึ้นที่ว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบาน” แล้ว ที่เป็นรัตนะจริงๆ ไม่ใช่แค่คำอุปมานั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร
ชีวิตที่เป็นแก้วที่ใสกว่ารัตนะใดๆ ในโลกมนุษย์ หรือในโลกอื่น
หรือในเทวโลกมีลักษณะอย่างไร
ทำไมถึงได้ชื่อว่า “เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเรา”
ทำไมถึงได้ชื่อว่า “เป็นสรณะ”
เมื่อเข้าถึงแล้วเราก็จะแจ่มแจ้ง
เมื่อแจ่มแจ้งก็หายสงสัย
พอหายสงสัยก็เกิดปีติสุข เบิกบาน
อาจหาญ ร่าเริง อยากจะทำความเห็นให้ถูกต้องเพิ่มขึ้น ความเห็นถูกก็จะยิ่งเกิดขึ้น
เมื่อใจเราเข้าถึงพุทธรัตนะ ถึงธรรมรัตนะ และก็ถึงสังฆรัตนะ
รู้จักว่าทำไมเรียกว่า “พุทธรัตนะ”
ทำไมลักษณะอย่างนี้จึงเรียกว่า “ธรรมรัตนะ”
ลักษณะอย่างนี้ทำไมถึงเรียกว่า “สังฆรัตนะ”
จะไปเข้าถึงเนื้อแท้จริงๆ เลย ทั้งสามอย่างนี้อยู่รวมกัน
แยกออกจากกันไม่ได้ แต่ทำหน้าที่กันคนละอย่าง เหมือนดวงตา หู จมูก ปาก
ที่ติดอยู่บนใบหน้าของเรา แต่ทำหน้าที่กันคนละอย่าง เรียกชื่อกันคนละอย่าง
แต่อยู่รวมกัน รัตนะทั้งสามนี้ก็เช่นเดียวกัน เราจะเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ได้ ต่อเมื่อเราเข้าถึงรัตนะทั้งสามดังกล่าวนี้ที่มีอยู่ภายในตัวของเรา
ซึ่งถูกเปิดเผยด้วยตัวของเราเอง
เมื่อใจของเราหยุดนิ่งนุ่มเบาสบายในตำแหน่งที่ตั้งของพระรัตนตรัย
เราจะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย
ปลื้มปีติและภาคภูมิใจว่า เรามีบุญมากที่ได้เกิดมาเป็นชาวพุทธ จะซาบซึ้งกว่าที่เคยเป็น
และจะซาบซึ้งไปถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กระตุ้นให้เราอยากเรียนรู้เพิ่ม
ขึ้นในสิ่งที่เป็นจริงและมีประโยชน์
ทั้งประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต
แล้วก็ประโยชน์อย่างยิ่งที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เราจะรู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตด้วยตัวของเราเองหายสงสัยด้วยตัวของเราเอง
อยู่เป็นสุขด้วยตัวของเราเองแม้อยู่ตามลำพังก็ตาม อยู่โคนไม้ก็เป็นสุข
อยู่ในป่าในเขาก็เป็นสุข อยู่ในที่ทุรกันดารก็เป็นสุข
เพราะใจเราไม่เกิดความทุรกันดาร มีสุขอยู่ภายในอิริยาบถทั้ง ๔ นั่งก็เป็นสุข
ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข ใช้อิริยาบถทั้ง ๔ ได้สมบูรณ์อย่างเป็นสุข
จะเข้าใจคำว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” มากยิ่งขึ้นว่าอยู่ที่ตรงไหนมันถึงเย็นแล้วก็เป็นสุข
แล้วเอาอะไรไปอยู่ตรงนั้น ซึ่งเมื่อเราหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ตรงนั้นแล้ว เราก็จะรู้จักว่าอยู่เย็นเป็นสุขเขาอยู่กันตรงนี้นะ ใจก็จะใสๆ
เบิกบานอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้รู้แล้วรู้เรื่องความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวของเราเอง
รู้จักตัวเราเองแล้ว ตื่นจากโลกมายาไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงแล้ว
ที่มีแต่เรื่องจริงล้วนๆ ที่อยู่ภายใน ใจก็เบิกบาน ชุ่มชื่น
เป็นสุขอยู่ตลอดเวลาเลย
เป้าหมายหลักใหญ่จริงๆ
ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ของทุกชีวิตก็เพื่อปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน
นี่คือชีวิตที่แท้จริงของเรา ส่วนการทำมาหากินแค่เป็นชีวิตในระดับผิวเผิน
ไม่ใช่เป้าหมายหลัก
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่เราพบปะเจอะเจอในปัจจุบัน
ไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึก เป็นแค่เครื่องอาศัยชั่วครั้งชั่วคราว
ไม่ใช่ของจีรังยั่งยืนอะไร เราจึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น
หรือไปผูกพันอะไรมากมายนัก กะแค่พอดีๆ เพียงแค่เราอิ่มปากอิ่มท้อง
ให้เรามีชีวิตอยู่เพื่อการปฏิบัติธรรมและการสร้างบารมีเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นเราต้องปลดปล่อยวางภารกิจเครื่องกังวลทั้งหลายในโลกนี้ออกให้หมด
ถ้าหากเราไม่เข้าถึงพระธรรมกาย
ชีวิตของเรายังไม่ปลอดภัยยังว้าเหว่ ยังหงอยเหงาอยู่
เหมือนคนว่ายน้ำอยู่ในกลางท้องทะเลมหาสมุทร จะต้องพบปะเจอะเจอภยันตรายนานาชนิด
ตั้งแต่สัตว์ร้าย คลื่นลม ตลอดจนกระทั่งหมดแรงจมน้ำตายอย่างนั้น เมื่อไรเราขึ้นเกาะได้เราจึงจะปลอดภัย
ในทะเลของชีวิตก็เช่นเดียวกัน
มีเกาะแห่งธรรมซึ่งเป็นที่พึ่งและที่ระลึก
พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ธมฺมทีปา
ธมฺมสฺสรณา นาญฺญสฺสรณา
มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่
นี่พระพุทธเจ้าท่านยืนยันอย่างนี้
เพราะฉะนั้นในทะเลชีวิตที่เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร
ถ้ายังขึ้นเกาะไม่ได้ก็มีความสะดุ้งหวาดเสียว มีแต่ความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา
ถ้าขึ้นเกาะได้แล้วชีวิตนี้ก็จะเปี่ยมไปด้วยความสุข ความสุขที่เป็นอมตะ
เป็นความสุขที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ธมฺมทีปา ธมฺมสฺสรณา มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมที่เป็นที่พึ่ง นาญฺญสฺสรณา สิ่งอื่นไม่ใช่
นี่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เราจะต้องพยายามปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้
ถ้าหากเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว
เราจะได้ดำเนินชีวิตของเราต่อไปเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย
ไม่ว่าเราจะนั่งนอนยืนเดิน หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่
เราต้องเอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ให้ใจมันคุ้นให้ใจมันเชื่องอยู่กับบริเวณนี้ เพราะเราทราบดีแล้วว่า
พระธรรมกายอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว
ทำไมเราถึงจะต้องเอาใจไปจรดไว้ที่อื่นล่ะ ก็ควรจะเอาใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ อย่างนี้อย่างเดียว ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต
เพราะเรารู้ว่า เกิดมาทำไม
อะไรคือเป้าหมายชีวิต เมื่อรู้แล้วก็จะเอาใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ตรงนี้แหละ ตรึกหยุดนิ่งจนกระทั่งถูกส่วน ถูกส่วนก็เห็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์เกิดขึ้นมาที่ศูนย์กลางกายตรงนี้
ให้เข้าใจกันอย่างนี้นะ ต่อจากนี้ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565