วิปัสสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๕๓ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
สำหรับสมาชิกใหม่ ก็ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้ายให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ อย่าให้เปลือกตาปิดสนิท ปรือๆ ตานิดๆ
ไม่ถึงกับเปลือกตาปิดสนิท พอสบายๆ
และก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเราให้ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกว่า
สบาย ตั้งแต่กล้ามเนื้อบนใบหน้า ศีรษะ
ลำคอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ให้ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว
ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้า ให้ผ่อนคลาย ให้เรามีความรู้สึกว่า เรานั่งแล้ว เราไม่ปวดไม่เมื่อย
ให้พอดีๆ จะรู้สึกว่า ผ่อนคลาย สบายจริงๆ
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย
ให้วาง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน เรื่องสัตว์
เรื่องสิ่งของ เรื่องธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว
หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพัน
จากสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายดังกล่าว จนใจของเราเกลี้ยงๆ ใจใสๆ เหมือนร่างกายของเราเป็นที่โล่งๆ
ว่างๆ กลวงๆ กลวงภายในคล้ายๆ กับปราศจากอวัยวะภายใน แล้วก็ใสบริสุทธิ์เหมือนเป็นกายที่เป็นแก้วเป็นเพชรใสๆ
วางใจ
แล้วเราก็รวมใจกลับไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น
นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง
ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา
๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ความสำคัญของฐานที่ ๗
นักเรียนใหม่ต้องจำเอาไว้นะจ๊ะว่า ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของตัวเรา
เกิดตายก็อยู่ตรงนี้ หลับตื่นก็อยู่ตรงนี้ ภาพกรรมนิมิตมาฉายให้เห็นในช่วงท้ายของชีวิตก็ตรงนี้แหละ คตินิมิตจะมืดหรือสว่างก็ตรงนี้
นอกจากจะเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของเราแล้ว
ยังเป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายทุกๆ พระองค์ ไม่มีเว้นเลยแม้แต่พระองค์เดียว
นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน
เมื่อท่านได้พิจารณาไปตามความเป็นจริงของชีวิตว่า
ชีวิตในสังสารวัฏในการเวียนว่ายตายเกิด
ไม่ว่าจะเกิดไปเป็นอะไรก็ตามล้วนมีทุกข์ทั้งสิ้น เกิดเป็นชนชั้นล่างก็ทุกข์แบบชนชั้นล่าง
เกิดเป็นคนชั้นกลางก็ทุกข์แบบชนชั้นกลาง เกิดเป็นคนชั้นสูงก็ทุกข์แบบชนชั้นสูง
จะเป็นคนจน คนรวยก็ล้วนมีทุกข์ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ปลอดภัยในอบาย ในวัฏสงสาร ในการเวียนว่ายตายเกิด
เพราะทุกชีวิตล้วนตกอยู่ในกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น กิเลส กรรม วิบาก
กิเลสบังคับให้สร้างกรรม แล้วก็มีวิบากเป็นผล คือรองรับอย่างนี้ตลอดเวลา
อีกทั้ง ไม่รู้ว่าตัวเองยังไม่รู้ หรือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะรู้
อย่างนี้เป็นต้น ชีวิตเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ไปสู่จุดสลาย เพราะฉะนั้นแต่ละพระองค์ก็เบื่อหน่ายชีวิตในการเวียนว่ายตายเกิด
พอเบื่อหน่ายก็คลายความผูกพัน จึงทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วใจก็กลับมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลาง
เอาใจจรดหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ให้ใจหยุดนิ่งอย่างเดียว เมื่อใจไม่ยึดมั่นถือมั่นในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายแล้ว
ใจก็จะนิ่งแล้วก็ดิ่งเข้าไปสู่ภายใน เป็นแนวดิ่งลงไปตรงกลางกาย ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตั้งแต่ยังเป็นปุถุชนธรรมดากระทั่งได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สภาวธรรมภายใน
ท่านทำใจหยุดนิ่งอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ แล้วท่านก็เห็นไปตามลำดับในสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ว่าไม่เคยรู้ว่า มี คือ ใจจะตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน
เมื่อใจนิ่งถูกส่วน แล้วก็มีดวงธรรมลอยขึ้นมา
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ เป็นดวงใสๆ เหมือนเพชรที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย
อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ในยามเที่ยงวัน แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
ดวงธรรมที่เห็นจะมาพร้อมกับความสุขที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ความบริสุทธิ์อันปราศจากสิ่งเศร้าหมองของใจ
ใจจะใสๆ เกลี้ยงๆ มีความสุข มีการเห็นเกิดขึ้น
มีแสงสว่างภายในบังเกิดขึ้น เป็นแสงที่เนียนตาละมุนใจ
ทำให้ใจท่านนิ่งลงไปในกลางธรรมดวงนั้น
ซึ่งเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือ ดวงปฐมมรรค นี้คือจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
และใจก็นิ่งอยู่ในกลางธรรมดวงนั้น ก็เห็นไปเรื่อยๆ
เห็นภาพบังเกิดขึ้น ที่ใสบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น จิตก็บริสุทธิ์เพิ่ม สุขก็เพิ่ม
แสงสว่างเพิ่ม การเห็นเพิ่ม ความสุขเพิ่ม ความบริสุทธิ์เพิ่ม ความเข้าใจก็เพิ่ม เห็นไปตามลำดับ
คือ เห็นดวงธรรมเป็นชุดๆ ชุดละ ๖ ดวง บังเกิดขึ้นในตรงกลางดวงของแต่ละดวง คือ
ในกลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีจุดใสๆ
เล็กๆ พอหยุดนิ่งถูกส่วนก็ขยายออกมาเป็นดวงศีล
ในกลางดวงศีล ก็จะมีจุดเล็กๆ
เท่ากับปลายเข็ม พอถูกส่วนก็ขยายออกมาเป็นดวงสมาธิ
ในกลางดวงสมาธิ ก็จะมีดวงปัญญาบังเกิดขึ้น
ในกลางดวงปัญญา ก็มีดวงวิมุตติเกิดขึ้น
ในกลางดวงวิมุตติ ก็มีดวงวิมุตติญาณทัสสนะบังเกิดขึ้นเอง
ดวงธรรมเหล่านี้มีอยู่แล้วดั้งเดิม
ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็จะมีกายเกิดขึ้น
เห็นตัวเอง อยู่ในอิริยาบถสมาธิ หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา เป็นกายที่สดใส และใจจะค่อยๆ กะเทาะล่อนจากความผูกพันยึดมั่นถือมั่นในกายมนุษย์หยาบว่า
เป็นตัวเรา เป็นของๆ เราจะค่อยๆ หมดไปเรื่อยๆ เพราะเห็นกายมนุษย์ละเอียดภายใน
ความเข้าใจก็แจ่มแจ้งขึ้นว่า กายมนุษย์หยาบประดุจเรือนที่อาศัยชั่วคราว
เมื่อมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ก็จะไปสู่จุดสลาย ไม่คงทนถาวร เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ใจก็คลายความผูกพันจากกายมนุษย์หยาบ ก็จะนิ่งอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
เป็นชั้นๆ ก็จะพบกายในกาย ก็ตามดูไปเรื่อยๆ
เห็นกายไหนผุดเกิดขึ้น ก็มองไปเฉยๆ เรื่อยๆ
ความเข้าใจก็แจ่มแจ้งขึ้นที่เรียกว่า รู้แจ้งเกิดขึ้นเพราะเห็นแจ้งด้วยตัวเอง จึงค่อยๆ
หายสงสัยด้วยตัวเองไปตามลำดับว่า
ในกลางกายมนุษย์ละเอียดก็มีกายทิพย์ ในกลางกายทิพย์ก็มีกายรูปพรหม
ในกลางกายรูปพรหมก็มีกายอรูปพรหม แต่ละกายที่ซ้อนกันอยู่นี้ล้วนมีชีวิตทั้งสิ้น แต่เป็นชีวิตที่ประเสริฐเพิ่มขึ้น และเป็นกายที่มีภพภูมิรองรับอยู่ ถ้าเราไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ทำแต่ความดี ใจก็จะดิ่งเข้าไปสู่กายนั้นเรื่อยๆ
ไปตามลำดับ
กายทิพย์ เป็นกายที่จะต้องนำเอาไปใช้ในเทวโลก
ในสวรรค์
กายพรหม จะเอาไปใช้ในพรหมโลก
เมื่อเข้าถึงญาณสมาบัติ
กายอรูปพรหม ก็จะอยู่ในอรูปภพ
เมื่อเข้าถึงอรูปฌานสมาบัติ
ยิ่งเห็น ยิ่งมีความสุข ยิ่งเห็น ยิ่งเข้าใจ
ยิ่งแจ่มแจ้ง ยิ่งชวนติดตาม กระตุ้นให้อยากมีความรู้เพิ่มขึ้น แจ่มแจ้งเพิ่มขึ้น จากนั้นก็ทำด้วยวิธีเดิม
คือ หยุดนิ่งเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ในที่สุดกลางกายอรูปพรหมก็เข้าถึงกายธรรม หรือพระธรรมกาย
เข้าถึงกายธรรม
กายธรรมโคตรภู หน้าตักหย่อนกว่า
๕ วา ใสเป็นแก้ว ใสเหมือนรัตนะ
หรือใสเกินความใสใดๆ ในโลก เป็นกายที่สวยงามมาก
ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ มีเกตุเป็นรูปดอกบัวตูม คล้ายๆ ดอกบัวสัตตบงกช แต่ว่าไม่ใหญ่ไม่เล็ก
พอเหมาะพอดีตั้งอยู่บนจอมกระหม่อม บนพระเศียร หรือบนศีรษะของท่าน
ที่มีเส้นพระศกหรือเส้นผมขดเวียนเป็นทักษิณาวัตรหมุนขวาตามเข็มนาฬิกา
เรียงรายอย่างเป็นระบบระเบียบ สวยงามมาก งามกว่ากายอรูปพรหม งามกว่ากายรูปพรหม งามกว่ากายทิพย์ หรือกายของชาวสวรรค์
งามกว่ากายมนุษย์ละเอียดและกายมนุษย์หยาบ
เกิดธัมมจักขุและญาณทัสสนะ
พอเข้าไปถึงกายนี้ ความรู้สึกจะแตกต่างจากทุกกาย จะมีความรู้สึกว่า กายนี้อบอุ่น ปลอดภัยสามารถเป็นที่พึ่งของเราได้
ดับทุกข์ได้ แล้วก็รอบรู้ แจ่มแจ้งในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย
เพราะว่ามี ธัมมจักขุ คือ
มีการเห็นที่วิเศษ แจ่มแจ้งหายสงสัย ไม่มีอะไรกำบัง แตกต่างจากการเห็นด้วยดวงตาของกายอรูปพรหม ของกายพรหม
ของกายทิพย์ ของกายมนุษย์
การเห็นอันวิเศษแจ้งต่างนี้ เขาเรียกว่า วิปัสสนา
วิ แปลว่า วิเศษ แจ่มแจ้ง แตกต่างจากการเห็นทั่วไป
ปัสสนา แปลว่า
การเห็น เพราะมีธัมมจักขุที่เห็นได้รอบตัว ทุกทิศทุกทางในเวลาเดียวกัน คือ แค่วางใจนิ่งๆ
อยู่ในกลางพระธรรมกาย การเห็นก็เกิด เพราะจิตนิ่งแน่นนุ่มนวลควรแก่การงาน เมื่อน้อมไปในอดีตก็จะแจ่มแจ้งเรื่องในอดีต เห็นถึงไหนก็รู้แจ้งถึงนั่น ซึ่งแตกต่างจากดวงตาของกายมนุษย์หยาบ ที่เราเห็นสุดขอบฟ้า แต่ไม่รู้ว่าอะไรมันอยู่ตรงนั้น เห็นใกล้ๆ
เห็นไกลๆ แต่ว่าความรู้ไปตามไม่ทันการเห็น แต่ว่า ธัมมจักขุ
ไม่เป็นอย่างนั้น เห็นถึงไหนก็รู้ถึงตรงนั้น มีญาณทัสสนะ จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างก็เกิดขึ้น
วิชชา ๓ ก็เกิดขึ้นในกายธรรมนี้
เช่น ปุพเพนิวาสานุสติญาณ วิชชาที่ทำให้ระลึกชาติหนหลังได้ บังเกิดขึ้นเมื่อธรรมจักขุของพระธรรมกายนิ่งอยู่ในกลางกายธรรม
อย่างมีความสุข ร่าเริง ผ่อนคลาย อารมณ์บันเทิง ใจก็ใสๆ จะน้อมไปในเรื่องอดีตที่เกี่ยวกับตัวของเราเอง
ว่าก่อนมาเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ มาจากไหน เหมือนเราคลิกภาพ มันก็ขึ้นมา คล้ายๆ
เราไปอยู่ในบรรยากาศในยุคนั้น ไม่เหมือนดูภาพยนตร์
ไม่เหมือนดูทีวี ไม่เหมือนดูอะไรในโลก มันเหมือนไปอยู่ตรงนั้น ณ สภาวะนั้น แล้วญาณทัสสนะคือ ความรู้แจ้ง แจ่มแจ้งก็เกิดขึ้นในตอนนั้น
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็แล้วแต่ตามกำลังแห่งบารมีที่ได้สั่งสมมา
ตั้งแต่ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา
อุเบกขาบารมี สั่งสมบารมีมามาก ความรู้เห็นก็กว้างไกลมาก สั่งสมมาปานกลาง ก็เห็นได้ปานกลาง
สั่งสมมาน้อย ก็เห็นได้ช่วงน้อยเหมือนคนสายตาสั้นบ้าง เป็นปกติบ้าง
มองผ่านกล้องส่องทางไกลบ้าง ระยะแห่งการเห็นจึงไม่เท่ากันตามกำลังแห่งบารมี
ซึ่งจะเกิดขึ้นมีในกายธรรมที่ชัดใส สว่างเท่านั้น
ถ้าเกิดขึ้นในกายอรูปพรหมหรือรูปพรหมหรือกายทิพย์ ขอบเขตของมันก็จะจำกัดลงมาเรื่อยๆ
การเห็นก็จะลดลงมาตามลำดับ ถ้าพอถึงกายธรรมแล้วก็ขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ
ยิ่งไปถึงกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่บริสุทธิ์หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย การเห็นนั้นก็ไม่มีขอบเขตจำกัด
ตามกำลังแห่งบารมีของพระองค์ เหมือนตัดเส้นรอบวงออกไป
สู่ทะเลแห่งความรู้อันประเสริฐที่ไม่มีประมาณ แต่ขยายขอบเขตกันไปเรื่อยๆ
พระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกพุทธเจ้า ก็เห็นไม่มีขอบเขตในระดับหนึ่ง สัทธาธิกพุทธเจ้าก็ขอบเขตกว้างไปอีก วิริยาธิกพุทธเจ้าก็ขยายออกไป แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเกิดแต่ในกายธรรมทั้งสิ้น
กายธรรมนี้จึงเป็นตัว พุทธรัตนะ
คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว เพราะมีธัมมจักขุ มีญาณทัสสนะ จักขุ ญาณ ปัญญา
วิชชา แสงสว่างเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน
เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่เราเห็นธรรมเป็นดวงใสๆ
ในเบื้องต้น เมื่อใจเราหยุดนิ่ง ไม่ช้าเราก็จะเห็นพระตถาคตเจ้า คือ กายธรรมนี่แหละ
ทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน มีอยู่ในกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีอยู่ในกายของพระอรหันต์ มีอยู่ในกายของตัวเรา และของทุกๆ คน ต่างแต่ว่าจะรู้ว่ามี
หรือว่า ไม่มี จะเฉลียวใจว่า มี หรือไม่มี
เพราะฉะนั้น ลูกทุกคนเป็นผู้มีบุญมาก
ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์มาพบพระพุทธศาสนา ได้ให้โอกาสตัวเองมาศึกษาเรียนรู้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยการลงมือปฏิบัติ โดยเฉพาะยิ่งเป็นอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อนก็ต้องถือว่า
มีบุญมาก เพราะฉะนั้นเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที มีบุญอย่างนี้
ก็ต้องให้มีวาสนาในการเข้าถึงพระธรรมกายในตัวให้ได้ด้วย จึงจะเรียกว่าสมความปรารถนา
สมหวังในชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
บริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนา
เมื่อเราได้ทราบอย่างนี้พอเป็นแนวทางแล้ว ต่อจากนี้ไปเราก็จะได้ตั้งใจประกอบความเพียรกันให้กลั่นกล้าให้ถูกหลักวิชชา
ในการนำใจกลับมาหยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ สำหรับอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อนหนึ่งล้านกว่าคน
ก็คงจะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติธรรมอย่างนี้แล้ว ก็ให้ลงมือปฏิบัติกันไปได้เลย แต่ผู้ที่เป็นสมาชิกใหม่ นักเรียนใหม่ที่อยู่ภายในและต่างประเทศ ก็ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ
นึกถึงภาพเพชรสักเม็ดหนึ่ง
หรือก้อนน้ำแข็งใสๆ แต่ว่ากลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ขนาดไหนก็ได้ให้ตั้งอยู่ในกลางท้อง
บริเวณที่เรามั่นใจว่า ตรงนี้แหละคือศูนย์กลางฐานที่ ๗
ให้ตรึกนึกถึงภาพดวงใส อย่างสบายๆ ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ ไม่ตั้งใจเกินไป ปรับใจให้ถูกส่วน ไม่ให้ตึงเกินไป ไม่ให้ย่อหย่อนเกินไป ให้ปรับอยู่ในสภาพที่ ถ้านึกถึงดวงแล้วร่างกายก็ผ่อนคลาย จิตใจก็สบาย ใจใสๆ
เย็นๆ นึกภาพอย่างนี้จึงจะเรียกว่า ถูกหลักวิชชา พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง
นุ่ม เบา สบาย ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆ กี่ครั้งก็ได้ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง
เช้านี้อากาศกำลังสดชื่น แจ่มใส เย็นสบาย
เหมาะสมที่ลูกๆ ทุกคนผู้มีบุญ จะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา
ก็ให้ประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง ด้วยบริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนาดังกล่าว
ขอให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระธรรมกายในตัว ทุกๆ คนนะลูกนะ
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565