กายภายใน
วันอาทิตย์ที่
๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐(๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ
คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตัก พอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ
คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย
ให้วาง ให้คลายความผูกพัน ในคน ในสัตว์ ในสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง ธุรกิจการงาน
บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้นะจ๊ะ
วางใจ
แล้วก็มารวมใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง
จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง
ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม
เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
ซึ่งเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น และเป็นจุดเริ่มต้นของใจที่จะเดินทางไปสู่อายตนนิพพาน ในเส้นทางแห่งสายกลางภายในที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านเริ่มหยุดใจของท่านที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
แล้วพอถูกส่วน ท่านก็จะเห็นไปตามลำดับ ท่านไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากใจหยุด
ใจนิ่ง เพราะว่าท่านเบื่อหน่ายชีวิตในสังสารวัฏแล้ว คลายความผูกพันในทุกสิ่งแล้ว แม้กระทั่งชีวิต
เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ปล่อยวางชีวิตแล้ว ชีวิตซึ่งเป็นที่รวมของทุกสิ่ง มีชีวิตเราก็จะได้ครอบครองในทุกสิ่งตามกำลังแห่งบุญของเรา
แต่ว่าถ้าหมดชีวิตแล้วก็ครอบครองไม่ได้
กายภายใน
เมื่อท่านปล่อยชีวิตแล้ว ใจก็ไม่ได้คิดอะไรเลย
หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และก็เห็นไปตามลำดับ
เห็นดวงธรรมใสๆ เป็นจุดเริ่มต้น ดวงธรรมใสๆ
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ใสเกินความใสใดๆ ในโลก ที่มาพร้อมกับความสุข
สดชื่น ตื่นตัวภายใน และใจก็ขยายไปเรื่อยๆ กระทั่งเข้าถึงกายในกาย
เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด
กายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด
กายรูปพรหมหยาบ กายรูปพรหมละเอียด
กายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมละเอียด
กายธรรมโคตรภูหยาบ กายธรรมโคตรภูละเอียด
กายธรรมพระโสดาบันหยาบ กายธรรมพระโสดาบันละเอียด
กายธรรมพระสกิทาคามีหยาบ กายธรรมพระสกิทาคามีละเอียด
กายธรรมพระอนาคามีหยาบ กายธรรมพระอนาคามีละเอียด
กายธรรมพระอรหัตหยาบ กายธรรมพระอรหัตละเอียด
หน้าตักใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ
ถ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็จะเข้าถึงกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นพระอรหันต์ ก็เข้าถึงกายธรรมพระอรหัตผล
แต่วิธีการเข้าถึงใช้วิธีการเดียวกัน คือ
หยุดกับนิ่ง ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ แล้วความสว่างก็จะบังเกิดขึ้น เมื่อใจบริสุทธิ์ด้วยการหยุดกับนิ่ง จนหลุดพ้นจากนิวรณ์ เครื่องกั้นจิต
ไม่ให้เข้าถึงความสว่างภายใน แล้วก็มีปีติ มีสุข มีใจเป็นหนึ่งเดียว อารมณ์ดี
อารมณ์เดียว
กายที่สำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา
คือ กายธรรมโคตรภู เป็นโคตรภูบุคคล จุดครึ่งทางระหว่างปุถุชน กับความเป็นพระอริยเจ้า
เป็นกายที่มีเกตุดอกบัวตูม ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ อยู่ในอิริยาบถนั่งเจริญสมาธิภาวนา
และหลังจากนั้นก็เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน
หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา
กายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐
วา
กายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา
กายธรรมพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา
เห็นไปตามลำดับอย่างนี้แหละ
ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ
และก็พบสุขเวทนาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามปริมาณของกิเลสอาสวะที่ลดน้อยถอยลง เจือจางลงไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งถึงกายธรรมอรหัตผล หน้าตัก ๒๐ วา
สูง ๒๐ วา ใสบริสุทธิ์ทีเดียว เกินความใสใดๆ และจิตก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จะหลุดพ้นได้ต้องเข้าถึงกายธรรมอรหัตผลนั่นแหละ
หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป แต่จุดเริ่ม คือ อวิชชา และขยายมาเป็น
โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ โทสะ โมหะ กามราคานุสัย ปฏิคานุสัย อวิชานุสัย สังโยชน์เบื้องต่ำ
สังโยชน์เบื้องสูง อย่างนี้เป็นต้น กิเลสในตระกูลเดียวกัน
ต่างแต่เจือจางลงไปเรื่อยๆ ชื่อก็เรียกแตกต่างกันไป
ตามปริมาณของกิเลสของอาสวะ
ในแง่ของการปฏิบัติจริงๆ เรายังเป็นนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
เราก็จำง่ายๆ ให้เอาใจมาไว้กลางท้อง ในบริเวณที่เรามั่นใจว่า ตรงนี้แหละ ใช่เลย เป็นศูนย์กลางกายฐานที่
๗ เอาใจหยุดนิ่งๆ ที่ตรงนี้
บริกรรมนิมิต
ถ้าหากว่า ใจมันจะเตลิดไปเรื่องอื่นที่เราคุ้น
เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน เป็นต้น เราก็กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ
บริกรรมนิมิต กำหนดภาพในใจ ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัย เพราะว่าเป็นวัตถุอันเลิศ
วัตถุอันประเสริฐ นึกถึงสิ่งที่บริสุทธิ์ ใจเราก็จะบริสุทธิ์และสูงส่งไปด้วย
จะเป็นพระพุทธรูปแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือดวงใสๆ
แทนธรรมรัตนะ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือนึกถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่ที่เราคุ้นเคย
และงานก็เพิ่งผ่านมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ แทนสังฆรัตนะก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งนะจ๊ะ
ให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ใจจะได้ไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่น นึกเบาๆ
สบายๆ คล้ายกับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคยนึกง่ายๆ เบาๆ สบายๆ ไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร
แต่ต้องสบาย ไม่ตึง ไม่เกร็ง ไม่เครียด
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนา
สัมมาอะระหังๆๆ ให้ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา สัมมาอะระหัง ภาวนากี่ครั้งก็ได้ ในใจเบาๆ
ไม่เร็วไม่ช้านัก จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง จนกว่าจะเพียงพอ แล้วมีความรู้สึกว่า เราไม่อยากจะภาวนาต่อไปแล้ว
อยากหยุดใจนิ่งเฉยๆ อยู่กับบริกรรมนิมิต หรืออยู่กับตรงกลางในตัวเรา ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้เราก็ไม่ต้องภาวนา
สัมมาอะระหัง ต่อไป
แต่ว่าเมื่อใดใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น เราจึงย้อนกลับมาภาวนา
สัมมาอะระหัง อย่างนี้อีกนะจ๊ะ ทำให้ต่อเนื่องกันไป มีสติ สบาย สม่ำเสมอ
และก็สังเกต ดูเหตุที่บกพร่อง เราจะได้พบช่องทางแห่งความสำเร็จที่ฐานที่ ๗ ของเรา และในไม่ช้าเราก็จะสมหวังดังใจ
ปรับกันไป ปรับกันมา อย่างนี้นะจ๊ะ
เช้านี้ อากาศกำลังสดชื่น เหมาะสมที่ลูกผู้มีบุญทุกคนจะได้ทำความเพียร
ทำงานที่แท้จริง ที่จะฝึกใจหยุด ใจนิ่ง ก็ให้ตั้งใจทำความเพียรกันต่อไป ให้ลูกทุกคนสมหวังดั่งใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
ทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565