ทุกสิ่งตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์
วันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม
พ.ศ. ๒๕๕๐ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ
ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเรา
ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์
เป็นสิ่งของ สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต มีวิญญาณครอง หรือว่าไม่มีวิญญาณครอง
ทุกสรรพสิ่งล้วนไปสู่จุดสลาย
ให้ปลด
ให้ปล่อย ให้วาง สรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ เราอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น
สักวันหนึ่งมันก็จะต้องแตกสลายไปเป็นปกติธรรมดา
ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไป
ไม่ว่าจะโลกใบนี้
เมื่อถึงคราวก็ต้องเสื่อม สลายไปด้วยบรรลัยกัลป์ ไฟบรรลัยกัลป์บ้าง น้ำบรรลัยกัลป์บ้าง
ลมบรรลัยกัลป์บ้าง เมื่อเกิดบรรลัยกัลป์แล้ว สวรรค์ ๖ ชั้น ยังล่มสลาย ไปถึงพรหมโลกโน้น
นับประสาอะไรสิ่งที่อยู่บนโลกใบนี้ จะเป็นภูเขา ต้นไม้ ตึกรามบ้านช่อง
วัตถุสิ่งของอะไรต่างๆ ก็ต้องล่มสลายกันไปหมด ต้องผุต้องพังกันไป บรรพบุรุษของเรา
ผู้ที่เป็นที่รักของเราก็ต้องแตกดับไป
เราเองก็เช่นเดียวกัน
สักวันหนึ่งก็จะต้องแตกดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย นี่คือความจริงของชีวิตในสังสารวัฏ
ที่เราเวียนว่ายตายเกิดกันมา นับภพนับชาติไม่ถ้วนก็เป็นอย่างนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา
เมื่อท่านได้ตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็เห็นความจริงในสิ่งเหล่านี้
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนไม่ให้เราได้ไปยึดมั่น ถือมั่นว่า เป็นตัวเรา หรือเป็นของๆ
เรา ทุกสิ่งตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
ตัวตนที่แท้จริงของเราต้องคงที่
มีแต่สุขล้วนๆ เป็นอิสระจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย จากอวิชชาความไม่รู้จริงต่างๆ
จากความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น ตัวจริงจะต้องเป็นลักษณะอย่างนั้น เป็นตัวของตัวเอง
เพราะฉะนั้น
ท่านจึงสอนให้ปลด ปล่อย วาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด เห็นโลก ให้ว่างเปล่า เพราะความจริงก็เป็นเช่นนั่นแหละ
วางใจ
แล้วก็รวมใจกลับมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเราในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินทางไปสู่ อายตนนิพพาน
ในเส้นทางสายกลางภายใน
ซึ่งเป็นเส้นทางของพระอริยเจ้า
เรียกว่า อริยมรรค
เส้นทางแห่งความบริสุทธิ์
เรียกว่า วิสุทธิมรรค
เส้นทางแห่งความหลุดพ้น
เรียกว่า วิมุตติมรรค
มีจุดเริ่มต้น ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้
เส้นทางสายกลางภายใน
เพราะฉะนั้น
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ใจท่านจะมาอยู่ที่ตรงนี้
หยุดนิ่งตรงนี้ที่เดียว ไม่ไปไหนเลย ไม่ผูกพันในเรื่องราวต่างๆ
เพราะพอหยุดนิ่งตรงนี้ได้ถูกส่วน ก็จะตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน และดวงธรรมก็จะลอยเกิดขึ้นมา
เป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้น ที่ใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรที่เจียระไนแล้ว
ไม่มีตำหนิเลย
หรือใสเกินความใสใดๆ
ในโลก กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านั้น แล้วแต่กำลังบารมีของแต่ละคน
บางครั้งก็โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ใส บริสุทธิ์
พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเรียกธรรมดวงแรกนี้ว่า ปฐมมรรค
หรือ ดวงธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน เป็นความบริสุทธิ์ในเบื้องต้น ที่มาพร้อมกับความสุขที่ไม่มีประมาณ
ซึ่งแตกต่างจากความสุขที่เราเคยเจอในชีวิตประจำวัน และเราเข้าใจผิดว่า เป็นความสุข
ปฐมมรรคนี้ใสบริสุทธิ์
อยู่ในกลางกาย ใจเมื่อหยุดนิ่งถูกส่วนก็จะเห็นไปตามลำดับ จะเห็นดวงธรรมต่างๆ ผุด
ซ้อนขึ้นมา เช่น ดวงศีล สมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ชุดหนึ่งมี
๖ ดวง ซึ่งเป็นดวงธรรมสำหรับเชื่อมกายในกายของแต่ละกายที่ซ้อนๆ กันอยู่
และเป็นเครื่องกลั่นจิตให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากมลทินของใจไปตามลำดับ
ทำให้เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด
ซ้อนอยู่ในกลาง กายมนุษย์หยาบ
กายทิพย์ ซ้อนอยู่ในกลาง
กายมนุษย์ละเอียด
กายรูปพรหม
ซ้อนอยู่ในกลาง กายทิพย์
กายอรูปพรหม
ซ้อนอยู่กลาง กายรูปพรหม
กายธรรมโคตรภู ซ้อนอยู่ในกลาง กายรูปพรหม
กายธรรมพระโสดาบัน
ซ้อนอยู่ในกลาง กายธรรมโคตรภู
กายธรรมพระสกิทาคามี
ซ้อนอยู่ในกลาง กายธรรมพระโสดาบัน
กายธรรมพระอนาคามี
ซ้อนอยู่ในกลาง กายธรรมพระสกิทาคามี
กายธรรมพระอรหัต
ซ้อนอยู่ในกลาง กายธรรมพระอนาคามี
ซ้อนกันเป็นชั้นๆ
กันไป แต่ต่างจากการซ้อนในมนุษย์ ที่ของเล็กซ้อนอยู่ในของใหญ่ แต่กายในกายนั้นของใหญ่ซ้อนอยู่ในของเล็ก
ที่ซ้อนอยู่ได้เพราะละเอียดกว่า บริสุทธิ์กว่า
จะต้องถอดออกเป็นชั้นๆ
อย่างนี้ ด้วยการหยุดใจนิ่งอย่างเดียว ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ แล้วก็จะเห็นไปตามลำดับ
พร้อมกับความรู้ที่เกิดขึ้น จักขุญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างจะเกิดขึ้นมา พร้อมๆ
กับการมาเกิดขึ้นของธรรมกาย นี่คือหลักวิชชาในภาคทฤษฎี
บริกรรมนิมิต
ในแง่ของการปฏิบัติจริงๆ
เราก็หยุดใจนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดอย่างเดียว
อย่างสบายๆ
โดยตรึกระลึกนึกถึงเพชรสักเม็ดหนึ่ง
ขนาดไหนก็ได้ แต่ว่ากลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ใส บริสุทธิ์ ไม่มีตำหนิเลย
อยู่ในกลางท้องของเราในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่ในกลางท้องนั่นแหละ
เพื่อให้เป็นที่ยึด ที่เกาะของใจเรา ใจเราจะได้ไม่ไปคิดเรื่องอื่น
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองบริกรรม
ประคองใจ ให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ ให้ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
เหมือนเสียงแห่งความบริสุทธิ์ ที่มาจากแหล่งกำเนิดภายใน ที่มีความบริสุทธิ์ มีอานุภาพไม่มีประมาณ
ดังออกมาในกลางท้อง
เพื่อกลั่นกาย วาจา ใจเราให้ใส ให้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทินของใจ จนกระทั่งเห็นความบริสุทธิ์ดังกล่าว
ประคองใจอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง แล้วมันก็จะทิ้งคำภาวนาไปเอง
เป็นผู้ดู ไม่ใช่ผู้กำกับ
เราก็รักษาใจให้หยุด
ให้นิ่ง ที่กลางกายไปเรื่อยๆ มีอะไรผุดผ่านมาให้เราเห็น เราก็ดูไป ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ
โดยไม่ต้องไปคิดอะไรทั้งสิ้น
ดูธรรมดาเหมือนดูทิวทัศน์ เหมือนเรานั่งรถดูทิวทัศน์
คือดูแบบเพลินๆ ธรรมดาๆ แล้วเดี๋ยวใจของเราก็จะค่อยๆ ละเอียด บริสุทธิ์ ลุ่มลึกไปตามลำดับ
ก็จะเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น
เห็นขึ้นมาเอง
เมื่อเห็นขึ้นมาแล้ว อย่าไปตื่นเต้น ให้มองด้วยใจที่เป็นปกติ อย่าไปวิเคราะห์ อย่าไปวิจารณ์
ไม่วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ ตั้งข้อสงสัยหรือตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราเห็นนี้จริงหรือไม่
จริงหรือว่าไม่จริง คิดเองหรือว่าไม่คิดเอง อย่าไปใช้ความคิด เดี๋ยวจิตมันจะถอยหยาบมา
ตอนนี้ เรากำลังฝึกให้ใจหยุด
ใจนิ่ง นิ่งอย่างเดียว มีอะไรให้ดูเราก็ดูไป ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ
โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ให้สิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปด้วยตัวของมันเอง
มันอยากจะเป็นอะไรก็ปล่อย ให้มันเป็นไปอย่างที่มันอยากจะเป็น
ภาพมันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
เราก็ดูไปเรื่อยๆ จากความมืดมาก ก็มาสู่ความมืดมัว จากมืดมัวก็มาสลัว จากสลัวก็ค่อยๆ
แจ้ง สางขึ้น เหมือนฟ้าสางๆ แล้วก็สว่างขึ้น เหมือนดวงอาทิตย์ ๖ โมงเช้า ๗, ๘ โมง เรื่อยกระทั้งถึงเที่ยงวัน
เรามีหน้าที่เป็นผู้ดูที่ดี
ไม่มีหน้าที่กำกับอะไร ให้ดูไปด้วยใจที่เป็นปกติ เหมือนผู้ผ่านชีวิตในทางโลก เจนโลกมามากแล้ว
มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเรื่องปกติ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ
ไม่ตื่นเต้น
เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ดูก็สักแต่ว่าดู ดูไปเฉยๆ เรื่อยๆ
อย่างสบายๆ
ไม่ช้าเราก็จะเข้าถึงพระธรรมกายในตัวของเราเอง
และถึงตรงนั้นเราก็จะหายสงสัยด้วยตัวของเราเอง คือ ความรู้สึกสงสัยมันหมดสิ้นไป เมื่อความรู้จริงมันมาบังเกิดขึ้น
ก็จะขจัดความไม่รู้ที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป เหมือนดวงอาทิตย์ผุดขึ้นมาขจัดความมืดในอากาศให้หมดสิ้นไป
อากาศก็สว่างไสวดวงปัญญาของเราก็จะสว่างไสวขึ้นมาเอง
ภาคเช้านี้
เป็นช่วงการปฏิบัติธรรม ฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพื่อที่ว่าจะได้ดึงดูดบุญที่เราทำผ่านมา
ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ถ้อยหลังกันเรื่อยไป ถึงจุดเริ่มต้นแห่งการสร้างบารมีของเรา เป็นช่วงของการตามระลึกนึกถึงบุญที่ทำผ่านมา
ด้วยใจที่ใสๆ
เช้านี้ อากาศกำลังสดชื่น เหมาะสมที่ลูกผู้มีบุญทุกคน
จะได้ประกอบความเพียร ทำกิจที่เป็นงานที่แท้จริงของเรา ซึ่งได้มาเกิดเป็นมนุษย์ในแต่ละครั้ง
ก็ให้ตั้งใจทำให้ดี ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ทุกๆ
คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565