วิธีนึกให้หายฟุ้ง
วันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม
พ.ศ. ๒๕๕๐(๑๓.๓๐ -
๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย-ปรับใจ-วางใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ อย่าถึงกับปิดเปลือกตาสนิท เหมือนปรือๆ ตานิดๆ หลับพอสบายๆ ถ้าเราหลับตาเป็น
เดี๋ยวกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเราจะคลี่คลาย
แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่ในกลางท้อง
นึกถึงบุญ
เราก็นึกถึงบุญทุกบุญที่เราทำผ่านมา
ตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วสร้างบารมีเรื่อยมานับภพนับชาติไม่ถ้วน มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
ให้มารวมเป็นดวงบุญใสๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
ใสเหมือนกับเพชรที่ต้องแสงใสๆ มีประกายเจิดจ้า สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ สว่างอยู่กลางกายของเรา
แก้ฟุ้งด้วยการนึกนิมิตไปตามฐานทั้ง ๗
เราปรับตรงนี้
ปรับเปลือกตา ปรับการหลับตากับการนึกถึงดวงบุญใสๆ เหมือนกับเพชร ขนาดไหนก็ได้นะ นึก
เบาๆ สบายๆ และเราก็ทดลองเคลื่อนย้ายดวงบุญ ใสๆ ย่อส่วนให้เหลือขนาดสักปลายนิ้วก้อย
เราลองเลื่อนไป
ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้องของเรา ระดับสะดือ
และก็ปรับการหลับตาของเรา เวลาเรานึก ลองค่อยๆ ดู แล้วก็ท่องภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ
เลื่อนมา ฐานที่ ๕ มาที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก ค่อยๆ
เลื่อน เราลองเลื่อน แล้วก็ตรึกนึกถึงความใสของดวง นึกเรื่อยๆ สัมมาอะระหังๆๆ
แล้วก็มา ฐานที่ ๔ เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก สัมมาอะระหังๆๆ
เลื่อนมาที่กลางศีรษะ ระดับเดียวกับหัวตาเรา
เป็น ฐานที่ ๓ ประคองดวงใสๆ ดวงบุญ สัมมาอะระหังๆๆ
และเลื่อนมาที่หัวตา
หญิงซ้าย ชายขวา เป็น ฐานที่ ๒ สัมมาอะระหังๆๆ
เลื่อนมาที่ปากช่องจมูก
หญิงซ้าย ชายขวา ซึ่งเป็น ฐานที่ ๑ จ่ออยู่ที่ปากช่องจมูกเลย
เอาดวงขนาดพอที่จะลอดช่องจมูกได้
เราลองฝึกไป
พร้อมกับการหลับตาที่ไม่ตึง ผ่อนคลาย สัมมาอะระหังๆๆ
นึกเป็นภาพไปเลย นึกเป็นดวงใสๆ
ขนาดลอดช่องจมูกได้ เพื่อที่จะฝึกการหลับตา และการนึกภาพให้มันสอดคล้องกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีการขมวดคิ้ว ไม่มีการบีบเปลือกตา ไม่มีความตั้งใจมากเกินไป
แล้วลองปรับตรงนี้ให้สบาย
แล้วจาก ฐานที่
๑ เราค่อยๆ เลื่อนไป ฐานที่ ๒
ที่หัวตา เลื่อนไปช้าๆ ปรับเปลือกตา หรือลืมลูกนัยน์ตาไปเลยก็ได้ เหมือนเรามองหลังเปลือกตานั้นแหละ
มองดูดวง จนไม่สนใจการหลับตา สัมมาอะระหังๆๆ นี่นึกอย่างนี้ สมมติเวลาเราฟุ้ง เราก็หาเรื่องคิด
แทนที่จะคิดเรื่องอื่น เราก็มานึกถึงดวงบุญใสๆ
แล้วก็เลื่อนมาที่
ฐานที่ ๓ โดยค่อยๆ ช้อนตาเหมือนตาเหลือกค้างขึ้นไป
เพื่อที่จะให้ความเห็นกลับเข้าไปในตัว มาที่กลางกั๊กศีรษะ ระดับเดียวกับหัวตาของเรา
สัมมาอะระหังๆๆ
เลื่อนมาที่เพดานปาก ฐานที่ ๔ ช่องปากที่อาหารสำลัก ค่อยๆ นิ่ง นุ่ม เบา
สบาย นึกถึงดวงใส ความใส สัมมาอะระหังๆๆ
เลื่อนมาที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๕ ตามภาพเลย จับภาพไป อย่าให้คลาดจากใจ แต่ต้องเบา
สบาย สัมมาอะระหังๆๆ
แล้วก็เลื่อนลงไปเหมือนกลืนเข้าไปไว้ในท้องเลย
ค่อยๆ เคลื่อนตามดวงไปเลย ไปหยุดนิ่งอยู่ที่กลางท้องระดับเดียวกับสะดือของเรา ฐานที่ ๖ สัมมาอะระหังๆๆ ปรับเปลือกตาให้ดี หรือลืมไปเลย
ผ่อนคลายไปด้วย มือ นิ้ว มันจะงอยังไงช่างมัน
เลื่อนถอยหลังขึ้นมา
ยกสูงมาที่ ฐานที่ ๗ กลางท้อง เหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ
สัมมาอะระหังๆๆ
เราจะเลื่อนกลับไปกลับมาอย่างนี้
กี่รอบก็ได้ ถ้าฟุ้งมาก เราก็หลายรอบหน่อย แต่ตอนสุดท้ายต้องมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้
หรือทำอย่างนี้แล้วยังฟุ้ง ก็เผยอเปลือกตาขึ้นมานิดหนึ่ง หลับไปใหม่ ประคองใจให้ใสๆ
สัมมาอะระหังๆๆ ทำอย่างนี้
ทุกสรรพสิ่งล้วนไปสู่จุดสลาย
แต่ถ้าทำอย่างนี้แล้วยังฟุ้งอีก
เราก็หาเรื่องคิดที่เกิดประโยชน์ต่อเรา คือ คิดไปตามความเป็นจริงของสรรพสัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลาย
ที่พระพุทธเจ้าท่านแทงตลอดในสิ่งเหล่านี้มาด้วยสัพพัญญุตญาณของพระองค์ท่านว่า
คน สัตว์ สิ่งของ
มีวิญญาณครอง หรือไม่มีวิญญาณครอง มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต จะเป็นอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไป ต้องผุต้องพังหมด จะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ
คน เราก็เห็นบรรพบุรุษของเราล้วนตายหมด แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านเป็นพระบรมศาสดาของเรา มีบารมี ๓๐ ทัศ เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ได้ลักษณะมหาบุรุษ
สมบูรณ์ด้วยวิชชา จรณะ มีตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ มีฤทธิ์ทางใจ แสดงอิทธิฤทธิ์ได้
กระทั่งทำอาสวะให้สิ้น ยังต้องดับขันธปรินิพพาน นับภาษาอะไรกับเรา บารมียังไม่เท่าท่าน
ก็ต้องตายแน่ เราก็นึกไป
เราห้ามความคิดอะไรไม่ได้
ให้มาคิดเรื่องนี้ คน สัตว์ สิ่งของ ตายหมด สิ่งของก็พังหมด ต้นไม้ตาย บ้านเรือนผุพัง รถรา ถ้วยโถโอชาม ต้นไม้ ภูเขา
พังหมด
แม้แต่โลกใบนี้ ก็ต้องถึงกัปวินาศ
ด้วยดิน ด้วยไฟบรรลัยกัลป์ ลมบรรลัยกัลป์ น้ำบรรลัยกัลป์ ดินบรรลัยกัลป์ เหลือแต่วิญญาณอากาศบรรลัยกัลป์ยังไม่เกิด
ไฟไหม้ถึงสวรรค์ ยังไหม้หมดเลย ไปถึงพรหมโลกในระดับหนึ่ง ตั้งแต่ปาริสัชชา มหาพรหมา
ปุโรหิตา เป็นต้นนับประสาอะไรกับเรา
พระอรหันต์
เหาะเหินเดินอากาศได้ยังถูกจับถอดกาย และนับประสาอะไรกับเราจะไปเหลืออะไร มหาปูชนียาจารย์ของเราดูสิ
ท่านเชี่ยวชาญในวิชชาธรรมกาย ยังถูกพญามารถอดกายได้ นับประสาอะไรกับเรา มันจะไปเหลืออะไร
คิดอย่างนี้ได้แล้ว ใจมันก็จะได้คลายความผูกพันกับทุกสิ่ง
พอคลายความผูกพันทุกสิ่ง
ใจก็จะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ฟุ้ง ไม่กระเจิง และก็มาเริ่มต้นใหม่นึกถึงดวงใสๆ
ทบทวนบุญ
เมื่อใจเกิดธรรมสังเวชสลดใจแล้ว
เราก็มานึกถึงดวง
ซึ่งเกิดจากบุญที่เราทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ อะไรก็นึกไป
หรือในบารมี ๑๐ ทัศ หรือบุญที่เราพอนึกได้ เช่น กฐิน ผ้าป่า โบสถ์ วิหาร
ศาลาการเปรียญ ถวายภัตตาหาร คิลานเภสัช สร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์อะไรต่างๆ
เหล่านี้ โดยเราเรียงไปเลย ตั้งแต่ทำทานกับสัตว์เดรัจฉาน กับมนุษย์ คนยากคนจน คนทุศีล
คนมีศีล๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗
นี่เป็นวิธีคิด
ที่ทำให้ใจเราชุ่ม พอใจเรารู้สึกเบิกบานนี้แล้ว มานึกถึงดวงใหม่ ปรับร่างกาย
ปรับเปลือกตา นึกถึงดวงใสๆ เห็นไหมว่า มันจะทำให้เราบันเทิง เกิดความอาจหาญ ร่าเริง
เบิกบานในธรรม นี่เราก็ทำอย่างนี้
พิจารณาร่างกาย
เกิดธรรมสังเวช
แล้วก็นึกถึงดวงใสๆ
สัมมาอะระหังๆ ไปเรื่อยๆ ถ้ามันหลุดแวบไปอีก มานึกถึงร่างกายของเราแล้ว จะนึกถึงผม
ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็นกระดูก เยื่อในกระดูก อาการ ๓๒ มันต้องผุ มันต้องพัง แล้วคิดตั้งแต่ภายนอกร่างกายเรา
เข้าไปหาข้างในเลย
ผม อยู่ข้างนอก
แต่เดิมมันก็สีสวยสดงดงาม ต่อไปมันก็แปรไป เปลี่ยนไป หลุดล่วงไป ขนเหมือนกัน เล็บก็เช่นเดียวกัน
ฟันที่ว่าเป็นของเรา มันไม่จริงเลย ของเรามันก็ต้องเชื่อฟังเรา
อยู่กับเราตลอด แต่นี่เดี๋ยวฟันนั่นหลุด ฟันนี้ถอนอะไรต่างๆ สารพัด จะคิดในแง่มันผุมันพังหรือมันเป็นปฏิกูลอะไร
เราก็นึกได้ทั้งนั้นแหละ
ผิวหนัง
ตอนเด็กๆ
ก็สวยสดงดงาม พอกาลเวลาผ่านไปก็เปลี่ยนแปลงไป เหี่ยวย่นไม่สวยไม่งาม มีกระ มีฝ้า นี่นึกได้ตลอดเลย
ถ้าลอกออกไปทีละชั้นๆ หนังชั้นนอก ชั้นใน กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก อวัยวะภายใน จับเอามากองที่โน่นที่นี่ แยกย้ายกระจัดกระจายกันไป
ดูไม่ออกว่าเป็นคน หรือว่าเป็นใครนะ เพราะว่ามันกระจัดกระจายกันไปหมด
นึกบ่อยๆ
ก็จะปล่อยวางได้
นี่มีวิธีนึกตั้งหลายวิธี
ที่จะแก้ความฟุ้ง ถ้ามันรุนแรงมาก นึกอย่างนี้บ่อยๆ เข้า ใจก็จะยอมรับความเป็นจริงของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง
เมื่อมีการพลัดพรากจากไป หรือประสบในสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
หรือปรารถนาอะไรมันก็ไม่ได้ดังใจ มันได้ตามกำลังบุญของเรา
จากทุกข์มากมันก็ทุกข์น้อย จากทุกข์น้อยมันก็ไม่มีทุกข์
และใจก็จะเกลี้ยงๆ มันจะเห็นว่า โลกนี้ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสาร ไม่มีอะไรใหม่
เราเคยเกิด
เคยแก่ เคยเจ็บ เคยตาย เคยพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
ปรารถนาสิ่งใดก็ไม่ได้ได้สมหวังทุกอย่าง มีความโศกเศร้าเสียใจ คับแค้นใจ ร่ำพิไร รำพัน
อะไรต่างๆ นานา ซ้ำๆ ซากๆ
นึกอย่างนี้
ก็จะช่วยคลายความฟุ้งได้ พอมันคลายแล้ว ไม่ใช่ไปคิดตลอดเวลา คิดแค่ให้คลายความผูกพัน
ยึดมั่นถือมั่น เมื่อถึงระดับหนึ่งแล้ว เราก็ต้องมาปล่อยวางความคิดนั้น แล้วก็มาจับเริ่มที่ดวงใหม่
จะเริ่มจากฐานไหนก่อนก็เอา แต่ตอนสุดท้ายก็มาอยู่ที่ฐานที่ ๗ อยู่นิ่ง
ฝึกให้มันคุ้นเลย
แต่เดิมเราใช้เวลาคิดในสิ่งเหล่านั้นเป็นชั่วโมง แต่พอเราฝึกบ่อยๆ แค่นาทีเดียว ก็คิดว่า ทุกอย่างมันต้องผุต้องพังหมด
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายหมด ก็สลดใจแล้ว ใจก็จะใสๆ แม้ยังไม่เห็นอะไร แต่ว่ามีความพร้อม
ที่จะนึกถึงภาพดวงใสๆ
หรือมองคนสัตว์สิ่งของ
มันก็เห็นไปอย่างนั้นแหละ สักแต่ว่าเห็น มันก็จะเป็นไปเอง
หรือได้ยินเสียงอะไรต่างๆ ที่แต่เดิมเรา เคยยินดียินร้าย มันก็สักแต่ว่าได้ยิน
กลิ่นก็เหมือนกันแต่เดิมได้กลิ่นแล้ว มีความยินดียินร้าย
ชอบใจ ไม่ชอบใจ พอเราฝึกบ่อยๆ มันได้กลิ่นก็อย่างนั้นแหละ จะดู จะโดน จะเป็นอะไรต่างๆ
ก็เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น
ใจก็จะกลับเข้ามาสู่ที่ตั้งดังเดิม ก็จะมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน พอใจเรานิ่งดีแล้ว ต่อจากนี้ไป
ไม่ต้องไปคิดอย่างนั้นอีกแล้ว เมื่อใจมีความพร้อมที่จะนึกถึงดวงได้ต่อเนื่องแล้ว เราก็มานึกถึงดวงใสๆ
ภาวนา สัมมาอะระหัง เรื่อยไป ภาวนาเท่าที่จำเป็น ถ้าหมดความจำเป็นในการภาวนา เราก็ไม่ต้องภาวนาต่อไป
สภาวธรรมภายใน
เมื่อใจรวมได้แล้ว
คือ พอเรานึกกลางกาย มันก็ปึ๊บเข้ามาอยู่ในกลางกายของฐานที่ ๗ นี้ เราก็นิ่งอย่างเดียว
เพราะ หยุดเป็นตัวสำเร็จ นิ่ง นุ่ม เบา
สบาย
เมื่อใจละเอียด
ใจมันใสแล้ว ดวงก็จะค่อยๆ ชัดขึ้นมาเอง ในระดับที่เรายอมรับได้ว่า นี้คือการเห็น ไม่ใช่การนึก
เห็นเหมือนเราเห็นวัตถุภายนอก คราวนี้ใจก็ตั้งมั่นแล้ว มีอารมณ์เดียวเป็นเอกัคคตารมณ์แล้ว
ใจจะเป็นกลางๆ มีอุเบกขา และก็มีสุขด้วย สุขเวทนาก็เกิดมาพร้อมๆ กันเลย
นั่งแล้วต้องสุขสบาย
จะมีแต่สุขเพิ่มขึ้น
เจอขั้นตอนตั้งแต่
ความทุกข์ มาแปรเป็นไม่สุขไม่ทุกข์ แล้วตอนสุดท้ายก็เป็นสุข กระทั่งท้ายสุดก็บรมสุข
นี่คือ
นิพพานํ
ปรมํ สุขัง นิพพานเป็นบรมสุข
สุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
สุขอย่างเดียว
เราก็ดูไป เรื่อยๆ
ใจก็จะใสติดนิ่งแน่นอยู่กลางดวง ดวงก็จะขยายออกไป ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปในกลางดวง ก็จะมีดวงใหม่ผุดขึ้นกลางดวงเก่า
จนสุดดวงก็จะถึงกาย ในกลางกายก็มีดวงอีกชุดหนึ่ง ก็จะสลับกันไปอย่างนี้
ในกายหยาบมีดวง
ในดวงก็มีกาย ในกายก็มีดวง ไปอย่างนี้ สลับไปเรื่อยๆ ในดวงมีกาย ในกายมีดวงใสๆ กระทั่งถึงองค์พระใสๆ นุ่มนวลละมุนละไม องค์พระก็ใสแจ่มกระจ่างกลางกาย
พอเราแนบแน่นกับศูนย์กลางกายของท่าน
ก็เห็นไปรอบตัวเลย รอบทิศทุกทิศทุกทาง ไม่เหมือนมองห่างๆ แล้ว ธรรมจักขุเกิดขึ้นตอนที่แนบแน่นกับท่าน
เป็นหนึ่งเดียวกับท่านนะ มีความรู้สึกเป็นพระอะไรอย่างนั้น นิ่งแน่น แนบแน่น แล้วคราวนี้ก็จะแน่นในแน่นเข้าไปเรื่อยๆ
องค์พระก็จะผุดผ่านซ้อนขึ้นมา ใจเราก็ยิ่งบริสุทธิ์
ยิ่งหลุดพ้น ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง ก็ยิ่งดิ่งไม่หยุด หลุดพ้นไปเรื่อยๆ องค์พระก็โตใหญ่ขึ้น
ใสขึ้น สว่างขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะใสในใสๆ สว่างในสว่างๆ
สุขในสุขๆ ด้วยกายเวทนาจิตธรรม เขาเดินกันอย่างนี้ เดินเข้าใน เข้าไปเรื่อยๆ กายในกายๆๆ
เกิดขึ้นเอง เมื่อเรานิ่งในนิ่งๆ หรือหยุดในหยุดๆ
หยุดเข้าไปเรื่อยๆ หยุดของมันเอง ไม่ต้องไปท่องเลย มันหยุดนิ่งใสสว่าง นี่ลองทำดูนะ
เพราะฉะนั้น
จะนึกเรื่องอะไรให้เกิดธรรมสังเวช เอานึกเท่าที่จำเป็นนะ พอเพียงพอแล้ว เราก็เลิกนึก
หันกลับมานิ่งกลางกายสลับกันไปอย่างนี้ สำหรับคนที่ฟุ้งเก่งๆ นะ
ถ้าใครง่วงเก่งๆ
ก็ต้องลืมตาก่อน ปรือๆ ตา นึกถึงแสงสว่างภายใน แสงจะได้แยงตาได้ ส่วนมากก็จะมีอยู่แค่ตึงเกินไปกับหย่อนเกินไปแค่นั้นเองสลับกันไป
ฝึกกันไป เดี๋ยวจะสมหวังกันทุกคน เพราะทุกคนมีทุนเดิมบุญเก่าเยอะอยู่แล้ว
มากมายกายกอง ขนาดหลังงาน งานติดกันยังมาวัดอย่างนี้ ถือว่ามีบุญมาก ที่ไม่ให้อะไรเป็นอุปสรรค
ข้ออ้าง ข้อแม้ เงื่อนไข ที่จะไม่มาวัด บุญมากเพียงพอ เหลือแต่ปรับวิธีการให้เป็นไปอย่างที่ว่าไว้นี่แหละ
เดี๋ยวเราจะมีความสุข จะมีความสุขมาก
วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565