เดินตามรอยพุทธองค์
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.
๒๕๕๓ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกัน ทุก ๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับ ขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา
จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ
หลับตาของเราเบาๆ
ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา
อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบายๆ พริ้มๆ
แล้วก็ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ให้มีความรู้สึกว่า ร่างกายทั้งเนื้อทั้งตัวของเรานั้นผ่อนคลาย
ต้องผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัว
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันธ์ ในคน
สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว
หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด
บริสุทธิ์ ผ่องใส ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
วางใจ
แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเราในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา
๒ เส้น นำมาขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ก็สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน
แล้วก็นำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ความสำคัญของฐานที่ ๗
มาเกิด
ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ซึ่งเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของเรา เกิดก็เกิดตรงนี้
โดยมีกายละเอียดของเราเข้าสู่ครรภ์บิดา
ผ่านปากช่องจมูกซึ่งเป็น ฐานที่ ๑
หญิงซ้าย ชายขวา แล้วก็เคลื่อนไปที่หัวตา ที่เพลาตา เป็นฐานที่ ๒ แล้วขยับไปที่กลางกั๊กศีรษะ
ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา เป็นฐานที่ ๓
เลื่อนลงมาที่เพดานปาก ที่อาหารสำลัก เป็นฐานที่ ๔
แล้วก็เลื่อนมาที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก เรียกว่า ฐานที่
๕ แล้วก็เคลื่อนไปที่ตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองระดับเดียวกับสะดือ
เรียกว่าฐานที่ ๖ ของบิดา แล้วก็เคลื่อนมาฐานที่ ๗ กายละเอียดของเราจะอยู่ตรงนั้น
นิ่งสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับบิดา
ซึ่งทำให้ดึงดูดเข้าไปหามารดา
เพื่อประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบ ห่อหุ้มกายละเอียดของเรา พอถูกส่วนแล้วก็ค่อยๆ เคลื่อนจากฐานที่
๗ ของบิดา ไปฐานที่ ๖ – ๕ – ๔ – ๓ – ๒ - ๑ เข้าสู่ปากช่องจมูกของมารดาในทำนองเดียวกัน แล้วก็ไปอยู่ตรงฐานที่
๗ ของมารดา ธาตุหยาบที่ประกอบกันระหว่างบิดามารดาก็ห่อหุ้มกายละเอียด
แล้วก็หล่อเลี้ยงด้วยเลือดเนื้อทุกอย่างของมารดา กระทั่งเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ของท่านแล้วก็เคลื่อนออกมา
เพราะฉะนั้นมาเกิดก็ตรงนี้แหละ ตรงฐานที่
๗
ไปเกิด (ตาย)
ไปเกิดหรือ
ตายก็ตรงนี้ เริ่มตรงนี้ก่อน เกิดตายตรงนี้แต่เป็นฐานที่ ๗ ของตัวเรา มาเกิดไปเกิด
ฐานที่ ๗ เรากับบิดาจะซ้อนกันสนิท สู่ครรภ์มารดาก็ซ้อนสนิท พอมาเป็นกายมนุษย์หยาบตรงนี้
เวลาตายก็ตายตรงนี้ เริ่มต้นตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ ภาพกรรมนิมิตจะฉายให้เราเห็น
เหมือนดูหนังกลางอวกาศโล่งๆ คตินิมิตจะมืดหรือสว่างก็ตอนนี้
แล้วพอหมดอายุขัย
มันก็เคลื่อนจากฐานที่ ๗ ไป ๖ - ๕ – ๔ – ๓
– ๒ - ๑ ไปเกิดใหม่ตามกำลังแห่งบุญบาป
ที่หลับ
ที่ตื่น
เวลาหลับ
ใจก็อยู่ตรงนี้ ตื่นก็ตรงนี้ เกิด ดับ หลับ ตื่น ตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗
นี่เป็นปกติธรรมดาของมนุษย์ทั่วๆ ไป
จุดเริ่มต้นเดินทางไปสู่อายตนนิพพาน
ที่สำคัญ
ฐานที่ ๗ คือ เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการไม่ไปเกิดอีก คือ ถ้าจะหลุดพ้นจากชีวิตในสังสารวัฏ
ในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ ใจจะต้องหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ ที่ เดียว
แต่ว่าการเดินทางกลับตาลปัตรกัน ถ้าไปเกิดใหม่ก็ต้องเดินออกนอกไป ถ้าจะไม่เกิดต้องเดินใน
คือ ในกลางตรงฐานที่ ๗ เป็นแนวดิ่งลงไป เข้าไปสู่ภายใน โดยการที่นำใจกลับมาหยุดนิ่งตรงนี้
ทางสายกลางภายใน
หยุดนิ่งพอถูกส่วน
ใจก็จะตกศูนย์เคลื่อนเข้าไปข้างใน แล้วก็จะมีธรรมดวงแรกลอยขึ้นมา เป็นดวงใสๆ
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ใสบริสุทธิ์เหมือนน้ำใสๆ บ้าง
เหมือนกระจกคันฉ่องที่ส่องเงาหน้าบ้าง เหมือนเพชรใสๆ บ้าง หรือใสเกินความใสใดๆ ในโลก
อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือใหญ่กว่านี้
แล้วแต่กำลังบารมีที่ไม่เท่ากัน นี่เป็นธรรมดวงแรก
ธรรมดวงแรกที่เรียกเป็นดวงธรรม
เพราะมันกลมเหมือนดวงแก้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเรียกอีก ชื่อหนึ่งว่า
ดวงปฐมมรรค เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางไปสู่อายตนนิพพาน
ที่จะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องเริ่มต้นจากธรรมดวงนี้ ปฐมมรรคนี้
เป็นดวงใสๆ
พระพุทธเจ้า
พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อท่านทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ใจของท่านจะมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้
กระทั่งเข้าถึงดวงปฐมมรรค เป็นปากประตูไปสู่อายตนนิพพาน เป็นจุดเริ่มต้น เป็นทางสายกลางที่อยู่ระหว่างทางสุดโต่ง
๒ สาย ที่ตึงกับหย่อนเกินไป มันจะเป็นแนวดิ่ง เริ่มต้นจากตรงนี้จะเป็นแนวดิ่งลงไปแล้วก็ขยายไปรอบตัวทุกทิศทุกทาง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านเริ่มตรงนี้แหละ
ซึ่งไม่มีในคำสอนในความเชื่ออื่น ในเทวนิยมไม่มีอย่างนี้ เพราะเขาไม่ได้มุ่งหนทางในการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
เพราะความรู้ของเขายังไม่สมบูรณ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านค้นพบหนทางนี้ด้วยพระองค์เอง
ด้วยการหยุดนิ่งอย่างนี้อย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ คือ ทิ้งทุกอย่าง
ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พอนิ่งตรงนี้แล้วดวงธรรมก็เกิด
มาพร้อมกับความสว่าง เพราะเครื่องกั้น คือการเห็นที่ทำให้หลับตาแล้วมืดมันหมดไป เครื่องกั้นเขาเรียกว่า นิวรณ์ทั้ง ๕ คือ ใจมันหลุดจากที่ตั้งดั้งเดิมตรงนี้
ไปติดในกาม ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เรื่องภายนอก ติดกับความโกรธบ้าง
ความพยาบาท ขัดเคืองใจ ติดกับความสงสัยลังเลในเรื่องราวต่างๆ เยอะแยะ คือใจวนเวียนอยู่กับความคิดที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ไปติดกับความฟุ้ง ความง่วง ความเคลิ้ม ความท้อบ้าง ใจมันถูกดึงหลุดออกไปจากตรงนี้
สูญเสียสภาพแห่งความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ดั้งเดิม ถูกแปรสภาพไปตามกระแสกิเลส
ชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น
ถ้าจะปรับปรุงสภาพชีวิตใหม่ ก็ต้องทวนกระแสกิเลส ต้องนำใจกลับมาหยุดนิ่งตรงนี้
โดยพิจารณา คือ เอาใจมาคิดว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวัน คน สัตว์
สิ่งของ ได้เจอตัวเอง ชีวิตของเรามันเป็นทุกข์ ต้องมาคิดตรงนี้บ้าง มองให้ออก ไม่ใช่ไปคิดเรื่องอื่น
เพราะความจริงชีวิตของเราเป็นทุกข์
ตั้งแต่เกิดมาก็ร้องไห้เรื่อยมาเลย ทุกข์เรื่อยมาแต่เราไม่ค่อยเอามาคิดกัน เมื่อไม่ได้คิด
ก็คิดไม่ได้ คิดไม่ออก ก็ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ไม่เบื่อหน่าย
ไม่อยากแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ หรือไปเจอความทุกข์แล้วก็อยากออกจากทุกข์แต่ไม่รู้วิธีการ
ก็หาทางออกเพื่อจะดับทุกข์ด้วยวิธีที่ผิดพลาด ซึ่งกลับเข้าไปสู่วงจรแห่งกฎแห่งกรรมอีก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหาทางพ้นทุกข์
แต่ผู้มีบุญบารมีอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านสั่งสมมาดีแล้ว
ท่านแจ่มแจ้งในเรื่องทุกข์ ท่านเห็นเหมือนอย่างที่เราเห็นนั่นแหละ เห็นคนแก่ คนเจ็บ
คนตาย เห็นชีวิตสมณะ แต่ท่านเห็นแล้ว ท่านเอามาเทียบกับตัวของท่าน
พอเห็นคนอื่นเขามีทุกข์ แปลว่า เราก็ต้องมี สภาพเดียวกับเขา เราก็ต้องทุกข์
บารมีที่สั่งสมมาก็จะทำให้ท่านสอนตัวเองว่า
ท่านเบื่อ ไม่อยากจะมีสภาพชีวิตอย่างนั้น พอเบื่อหน่ายก็คลายความผูกพันจากทุกสิ่งทุกอย่าง
พอคลายใจก็หลุดจากสิ่งเหล่านั้นในระดับหนึ่ง พอหลุดไปแล้วใจก็กลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม
คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ แล้วก็นิ่งอย่างเดียว จนกระทั่งจิตบริสุทธิ์ ในระดับแสงสว่างเกิด
คือทำลายความมืดทางใจที่เรียกว่าแสงสว่างส่องทางชีวิตใหม่
แสงสว่างภายในก็เกิด
หลับตาแล้วไม่มืด พอแสงสว่างเกิด ก็ทำให้การเห็นเกิด เหมือนตอนเราอยู่ตอนตี ๔ ตี ๕
มันยังมืดอยู่ เห็นอะไรก็ไม่ชัด พอรุ่งอรุณยามฟ้าสางๆ แสงเงินแสงทองจับขอบฟ้า
แล้วก็เห็นดวงตะวัน เห็นสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย แต่นั่นเป็นการเห็นภายนอก
นี่เป็นการเห็นภายใน ซึ่งมันน่ามหัศจรรย์ที่หลับตาแล้วไม่มืด
ความสว่างทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้วในตัว
แต่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า มีอยู่ แล้วก็ไม่เฉลียวใจว่า มี เหมือนสิ่งที่อยู่ไกล
แต่กลับอยู่ใกล้ๆ ใกล้ก็เหมือนไกล คือไม่รู้จัก เมื่อใจหยุดนิ่งตรงนี้
ความสว่างเกิดก็เห็นดวงใสๆ
ความเห็นทำให้เกิดความรู้ ความบริสุทธิ์ ความสุข
สุขแรกที่เจอที่ยอมรับว่ามันเป็นสุข ก็ทำให้เกิดการเทียบกับ
ตอนที่ใจไม่ได้มาอยู่ที่ตรงนี้ ไปอยู่ที่คน สัตว์ สิ่งของ รูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส ธรรมารมณ์ ทรัพย์สินเงินทอง อะไรต่างๆ เหล่านั้น ว่ามันแตกต่างกัน
แต่เดิมตรงนั้นเข้าใจว่า
เป็นความสุข แต่พอมาเจอสุขจริงๆ เมื่อใจหยุดนิ่งเห็นดวง
ใส จึงได้มีความรู้เพิ่มขึ้น ว่าสิ่งที่ผ่านมามันแค่ความเพลิน แค่คลายทุกข์
คือทำให้ปริมาณทุกข์มันลดลงมาหน่อย หรือลืมความทุกข์ไปชั่วครั้งชั่วคราว
พอหมดความเพลินก็เหลือแต่ความเพลียๆ แต่ตอนที่ใจหยุดนิ่งนี้
เราได้รู้จักความสุขที่แท้จริงว่ามันเป็นอย่างไร แม้มีปริมาณยังไม่มากนัก
ถ้าเทียบกับความสุขต่อๆ ไป แต่ก็มากกว่าที่เคยเจอ อย่างพูดไม่ออกบอกไม่ถูกว่าจะไปเทียบกับอะไร
คือกายเบา ใจเบา สบายกาย สบายใจ อย่างไร้ขอบเขต ความสุขก็จะเกิดขึ้นและเพิ่มปริมาณไปเรื่อยๆ
เมื่อใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงใส นิ่งสนิท
ที่ใจหยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวงใสเพราะอยู่เย็นเป็นสุข
ใจอยู่ตรงนี้มันจะเย็นกายเย็นใจ ที่ไม่ได้เย็นเหมือนน้ำแข็ง
หรือในห้องแอร์ หรือตอนช่วงที่อากาศหนาวๆ แต่มันเย็นแบบสบายกาย สบายใจ
พออยู่เย็นเป็นสุข ใจก็นิ่งอยู่ตรงนี้อย่างเดียว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน
ในช่วงที่ยังเป็นพระมหาบุรุษอยู่ ท่านก็เข้าถึงตรงนี้ แล้วก็นิ่งอย่างเดียวเรื่อยไปเลย
ท่านก็เห็นเรื่อยไป มันจะเป็นภาพภายในที่เกิดขึ้นมา ท่านก็ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ
โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ท่านดูภาพที่เห็นไปเรื่อยๆ
สิ่งที่เห็นไม่ใช่ภาพที่เลื่อนลอย
แต่เป็นภาพที่มีจริง ดีจริง เข้าถึงได้ แล้วก็เป็นสิ่งที่เห็น เห็นดวงก็เป็นดวง
เห็นกายภายในก็เป็นกายภายใน จะเห็นชีวิตในหลายๆ ระดับ ที่ค่อยๆ ห่างไกลจากกิเลสอาสวะ
จากสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ จากสิ่งที่เป็นมลทิน จากสิ่งที่เศร้าหมอง
ชีวิตใหม่ภายในนั้นบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
มันจะมีชีวิตใหม่ที่ซ้อนๆ กันอยู่ในอิริยาบถสมาธิ ที่ให้เอามือขวาทับมือซ้าย
นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายวางไว้บนหน้าตัก ก็ถอดแบบออกมาจากกายข้างใน
ก็จะเห็นกายในกายอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ซ้อนๆ กันอยู่ คือ กายภายในซ้อนอยู่ในกายภายนอก
กายภายนอก คือ กายมนุษย์หยาบ
ที่เรากำลังอาศัยนั่งเจริญสมาธิภาวนาอยู่นี้ ที่หน้าตาเหมือนกับตัวเราเลย แต่ดูสดใสกว่า
มันไม่ใช่เป็นเพียงแค่เห็น แต่ว่าไปเป็นกายนั้นเลย
เมื่อใจเราหยุดนิ่งอยู่ในกลางกายนั้น เราจะมีชีวิตอยู่ในชีวิตจิตใจใหม่เหมือนกายนั้น
ที่เรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า
กายฝัน
เวลาเรานอนหลับ เราเห็นตัวเราเองออกไปทำหน้าที่ฝัน
เห็นโน่นเห็นนี่ ขึ้นอยู่กับใจหยาบละเอียด จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง อะไรต่างๆ
เหล่านั้น เวลาตื่นแล้วมันอยู่ตรงนี้แหละ ในอิริยาบถอย่างนี้ เป็นกายภายในที่ซ้อนอยู่ในกายภายนอก
แต่ยังมีกายภายในที่ซ้อนอยู่ในกายภายในอีก
เป็นชั้นๆๆ เข้าไป ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม
กายแต่ละกายนี่เขาก็จะมีภพรองรับเป็นชั้นๆๆ เข้าไป เหมือนเราปอกหัวหอม ออกทีละชั้น
ทีละชั้นเข้าไป แต่นี่เป็นการเดินทางเข้าไปสู่ภายใน เพื่อจะไปสู่ความไม่เกิด
กระทั่งไปถึงกายหนึ่ง
คือ กายธรรม เพราะกายทั้งก้อนบริสุทธิ์ล้วนๆ
สวยงามมาก งามกว่ากายใดๆ ในภพสาม เพราะได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ
ต่างแต่ว่ามีเกตุดอกบัวตูมอยู่บนจอมกระหม่อม ซึ่งมีลักษณะพิเศษของมหาบุรุษ
อยู่บนพระเศียรที่เรียงรายด้วยเส้นพระศก หรือเส้นผมที่ขดเวียนเป็นทักษิณาวัตรหมุนขวาตามเข็มนาฬิกาอย่างนั้นแหละ
อิริยาบถสมาธิ ใสเกินความใสใดๆ ถ้าจะเทียบก็เทียบด้วยรัตนชาติ คือ เพชร แต่มันใสกว่านี้ แต่มนุษย์รู้จักแค่นั้น
ผู้รู้
ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
กายนี้แหละที่มีธรรมจักขุมีการเห็น
ดวงตาที่เห็นไปรอบตัวทุกทิศทุกทางในเวลาเดียวกัน มีญาณทัสสนะ คือ เห็นถึงไหนรู้ถึงนั่น
ต่างจากกายมนุษย์หยาบของเรา เรามองเห็นของไกลๆ เราเห็น แต่เราไม่รู้ว่าที่ไกลๆ
มันคืออะไร แต่ดวงตาของกายธรรม หรือพระธรรมกาย เห็นถึงไหน รู้ถึงนั่น
เห็นกับรู้มาพร้อมกัน เรียกว่า เห็นแจ่มแจ้ง
เหมือนดึงของออกจากที่มืดมาสู่กลางแจ้ง เห็นแจ้งแล้วก็รู้แจ้ง จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ แล้วก็เป็นผู้ตื่น
เพราะว่ามีความเบิกบานมีความรอบรู้ในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
ต่างจากมนุษย์ทั่วไป
แม้เพิ่งตื่นนอนล้างหน้าล้างตาอย่างดี อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร
ไปทำงาน แต่ยังไม่รู้อะไรเลย ทั้งๆ ที่เราลืมตาอย่างนี้ แต่ก็ยังไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย
เกี่ยวกับความจริงของชีวิตที่เกี่ยวกับตัวเอง ตื่นอย่างนั้นก็เหมือนยังหลับ อยู่ยังตกอยู่ในโลกของความฝัน
โลกมายา มีชีวิตอยู่เหมือนคนงัวเงีย เหมือนคนยังนอนหลับอยู่
แต่ถ้าเข้าถึงพระธรรมกายหรือกายธรรมนี้
จะตรงกันข้าม จะแจ่มแจ้งในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตื่น ผู้ที่แจ่มแจ้งมีชีวิตชีวา เข้าใจเรื่องราวของชีวิต
มีความสุข ความเบิกบานก็บังเกิดขึ้น เหมือนดอกไม้ที่คลี่กลีบดอกขยาย เบ่งบาน
เพราะน้ำหล่อเลี้ยงต้นมันดี หล่อเลี้ยงดอกดี พระธรรมกายมีน้ำหล่อเลี้ยงใจดีที่ใสสะอาดบริสุทธิ์
จึงเบิกบานตลอดเวลา
กายธรรมนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
แต่เพราะกายนี้ใสเหมือนรัตนชาติเหมือนเพชร จึงเรียกว่า พุทธรัตนะ
เราเป็นชาวพุทธ
ต้องเข้าถึงกายนี้ ต้องเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว หรือพระธรรมกายในตัวให้ได้ จึงจะได้ชื่อว่า
เป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ เป็นชาวพุทธแท้ แม้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเป็นชาวพุทธ ถ้าเป็นนาคธรรมทายาทก็นาคแท้
ถ้าเป็นสามเณรเทือกเถาเหล่ากอของสมณะก็เป็นสามเณรแท้ ถ้าเป็นพระเข้าถึงพระธรรมกายในตัวอย่างนี้อย่างนี้ได้ก็เป็นพระแท้
บริกรรมนิมิต
ลูกธรรมทายาทผู้มีบุญทุกๆ
คน ที่กำลังจะเตรียมตัวเข้าสู่เพศบรรพชิต จะบรรพชาเป็นสามเณร พึงฝึกใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
ให้ใจเรานิ่งนุ่ม เบาๆ โดยเราจะตรึกนึกถึงดวงใสอยู่ ในกลางดวงใส
หรือจะนึกถึงภาพบิดามารดาดังที่ได้กล่าวผ่าน DMC ไปแล้วเมื่อคืนนี้ก็ได้ให้
เป็นจุดยึดเหนี่ยวของใจ ไม่ให้ใจเราฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น แต่ต้องประคองอย่างเบาๆ
สบายๆ ใจเย็นๆ ผ่อนคลาย สบาย นึกอย่างเบาๆ สบายๆ
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง
นุ่ม เบา สบาย ภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆๆ ประคองใจกันไปอย่างนี้นะจ๊ะ
จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง เช้านี้อากาศกำลังสดชื่น แจ่มใส เย็นสบาย
เหมาะสมที่ลูกผู้มีบุญทุกๆ คน จะได้ประกอบความเพียร อย่างถูกหลักวิชชา
ก็ให้ตั้งอกตั้งใจทำกันให้ดี ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
ทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565