ดวงธรรมนำทาง
วันอาทิตย์ที่
๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ (๑๓.๓๐ -
๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ /
มุทิตาเปรียญธรรมประโยค ๓ – ๖ - ๙ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน หลับตาเบาๆ
พอสบายๆ หลับตาพริ้มๆ พอสบายๆ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา พอสบายๆ คล้ายๆ
กับตอนที่เราใกล้จะหลับ คือเปลือกตามันจะแตะกันเบาๆ ในระดับขนตาชนกัน ไม่ถึงกับปิดสนิท
พอสบายๆ
แล้วก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั้งตัว
ตั้งแต่กล้ามเนื้อบนใบหน้า ศีรษะ ลำคอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือให้ผ่อนคลาย
กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้า ให้ผ่อนคลาย ให้มีความรู้สึกว่า ผ่อนคลาย
สบายจริงๆ ทั้งเนื้อทั้งตัว แล้วก็ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย
ปรับร่างกายให้ได้เสียก่อน ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน
ให้มีความรู้สึกว่า สบายสำหรับตัวของเรา
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันกับทุกสิ่ง
จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ เป็นธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน
เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทิ้งทุกอย่าง
ปล่อยวางทุกสิ่ง ทำประหนึ่งว่า เรามีตัวเราคนเดียวอยู่ในโลก เหมือนเราไปนั่งอยู่ในถ้ำคนเดียว
ที่เงียบ ที่สงัด หรือบนยอดเขาสูงๆ ที่อากาศกำลังสบายๆ ที่เงียบ ที่สงัด
สงัดทั้งกาย สงัดทั้งใจ เงียบสงบ ให้สบายๆ
ต้องสบายนะลูกนะ ใจถึงจะอยู่กับเนื้อกับตัว
ทำความบริสุทธิ์กายวาจาใจ รองรับผ้ากาสาวพัสตร์
โดยเฉพาะธรรมทายาทผู้มีบุญ ที่ตัดสินใจมาบวชเข้าพรรษาในรุ่นแสนรูปนี้
เป็นยุคประวัติศาสตร์แห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในยามนี้ให้รุ่งเรืองเฟื่องฟูประดุจยุคโบราณกาลก่อน
หรือเหมือนยุคในสมัยพุทธกาล
ต้องทำกาย วาจา ใจของเรา ให้บริสุทธิ์ที่สุด
สะอาดที่สุด ผ่องใสที่สุด ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำของเรา ประดุจพระเถระที่บวชมาแล้วเป็นร้อยพรรษา
ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ เพื่อกาย วาจา ใจ
ของเราจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากการบวชครั้งนี้
โดยเฉพาะอีกไม่กี่วัน ก็จะเข้าสู่พิธีบรรพชาเป็นสามเณร
เป็นเทือกเถาเหล่ากอของสมณะ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ภัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
เห็นภัยว่าชีวิตแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ไม่ปลอดภัย เพราะยังตกอยู่ภายใต้กิเลสอาสวะ
กฎแห่งกรรม เป็นต้น
เพราะฉะนั้น
ต้องทำกาย วาจา ใจของเรานี้ ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ จะได้เหมาะสมที่จะครองผ้ากาสาวพัสตร์
เป็นสามเณร เป็นเทือกเถาเหล่ากอของสมณะดังกล่าว ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะเป็นสายโลหิตแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาผู้มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์
หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย
เรากำลังจะไปเป็นสายโลหิต บุตรแห่งท่านที่เรียกว่าพุทธบุตร
บุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเตรียมตัวเตรียมใจของเราให้พร้อมๆ ที่จะรองรับสิ่งที่ยิ่งใหญ่
เพราะการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ง่าย บังเกิดขึ้นยาก การบังเกิดขึ้นเป็นกายมนุษย์ก็ยาก
ต้องมีบิดามารดาดังที่เราทราบนั่นแหละ และได้เกิดในร่มเงาของพระพุทธศาสนาก็ต้องมีบุญเก่าที่สั่งสมมาดีในพระพุทธศาสนา
ซึ่งมันก็ยาก หลายสิ่งหลายอย่างต้องมาประจวบเหมาะกัน จึงมีวันนี้สำหรับเรา
เพราะฉะนั้นต้องให้บริสุทธิ์ที่สุด ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ
วิธีง่าย ตรงลัด ประหยัดสุด
ประโยชน์สูง ที่จะทำให้เราบริสุทธิ์เพียงพอที่จะรองรับผ้ากาสาวพัสตร์ธงชัยของพระอรหันต์ได้นั้น
ต้องบริสุทธิ์ในระดับใจของเราที่ฟุ้งซ่านไปในเรื่องราวต่างๆ วอกแวกนั้น
คิดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ ต้องนำกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ในตำแหน่งที่ตั้งแห่งความบริสุทธิ์
ซึ่งเป็นต้นทางไปสู่ความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของการหมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย คือ ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ที่อยู่เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ในกลางท้องของเรา
วางใจ
เราจะต้องทิ้งทุกอย่าง
ปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วก็นำใจมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
โดยกำหนดเครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็น Landmark เป็นเครื่องหมายว่าตรงนี้
คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่อยู่ในบริเวณกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา เพราะใจจะอยู่กับเนื้อกับตัวตรงนี้
บริกรรมนิมิต
แล้วก็ค่อยๆ นึกถึงเครื่องหมายที่ใสสะอาดที่เรียกว่า
บริกรรมนิมิต เป็นเพชรสักเม็ดหนึ่ง หรือก้อนน้ำแข็งสักก้อนหนึ่ง โตขนาดไหนก็ได้
แล้วแต่ใจเราชอบ แต่ว่าให้กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ดวงแก้วที่เจียระไนแล้ว
เป็นลูกกลมๆ กลมรอบตัว อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
ให้นึกอย่างแผ่วๆ
สบายๆ โดยไม่ใช้กำลังในการนึกคิด นึกง่ายๆ เหมือนเรานึกถึงภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
ดวงดาวบนท้องฟ้า หรือนึกถึงภาพที่เราคุ้นเคย ให้ง่ายอย่างนั้น ธรรมดาๆ อย่างนั้น
แต่อยู่ตรงนี้ คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นึกอย่างแผ่วเบา ค่อยๆ บรรจง นึกอย่างละมุนละไม
ประคองบริกรรมนิมิตนี้
ด้วยใจที่อ่อนละมุนละไม นุ่มๆ เบาๆ ใสๆ ใจเย็นๆ ต้องใจเย็นๆ ไม่เย็นไม่ได้
และต้องนึกให้ต่อเนื่องอย่างเบาๆ ไม่ต่อเนื่อง ไม่นึกเบาๆ ก็ไม่ได้
ไม่ชัดมากก็ไม่เป็นไร แต่ให้ใจเย็นๆ ไม่ทุกข์ร้อนใจ ไม่รำคาญใจ ที่เรายังนึกได้ไม่ชัดเจน
หรือนึกได้ประเดี๋ยวเดียว แล้วก็เผลอไปคิดเรื่องอื่น ก็ต้องไม่รำคาญใจ
ต้องทำใจให้เยือกเย็น
แม้ว่าเราจะเคยเป็นคนใจร้อน
แต่ตอนนึกถึงบริกรรมนิมิตนี้ ต้องปฏิวัติอุปนิสัยใหม่ ต้องฝึกให้ใจเย็นๆ
แม้ใจเราจะเคยแข็งกระด้าง ก็ต้องฝึกให้นึกนุ่มๆ เบาๆ สบายๆ อย่างต่อเนื่อง
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง
ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ กี่ครั้งก็ได้ แต่ต้องให้เสียงของคำภาวนานั้น
เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน คล้ายๆกับเสียงเพลงที่ดังขึ้นมาเองในใจของเรา
หรือบทสวดมนต์ที่เราคุ้นเคย ต้องละเอียดอ่อนอย่างนั้น
โดยดังมาจากในกลางท้องของเรา
ในกลางท้องที่ลึกๆ ที่เรายังไปไม่ถึงนั่นแหละคล้ายๆ กับเสียงนี้เป็นพุทธมนต์
ที่มาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ มาจากแหล่งแห่งอานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มีเดช
ไม่มีประมาณ ผ่านกลางท้องของเรา มาอยู่ที่กลางบริกรรมนิมิตที่เป็นดวงใสๆ
ให้เสียงละเอียดอ่อน
ดังขึ้นมาจากกลางท้องอย่างต่อเนื่อง เป็นเสียงที่ไพเราะ
อ่อนหวาน แต่ว่ามีอานุภาพ มีพลัง ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจ ความไม่บริสุทธิ์ของกาย
วาจา ใจ ของเราที่ผ่านมา ของชีวิตที่ผ่านมาที่เราเคยดำเนินชีวิตผิดพลาด ให้เปลี่ยนมาเป็นคนใหม่ที่มีสภาพชีวิตใหม่ที่สดใส
ที่บริสุทธิ์ สมกับเป็นธรรมทายาท คือ บุตรที่เกิดโดยธรรม
เกิดจากความบริสุทธิ์ เกิดจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จากคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้บริสุทธิ์ที่สุด
ประคองใจกันไปอย่างนี้
อย่างนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ ไม่ชัดเจนมาก ก็ไม่เป็นไร แต่ให้รู้สึกว่า สบายกาย
สบายใจ ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ ให้ตรึกนึกถึงดวงใส
ให้ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างแผ่วเบา อย่างละเอียดอ่อน อย่างละมุนละไม นิ่งๆ
นุ่มๆ
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ไม่ช้าคำภาวนา สัมมาอะระหัง
ที่เป็นประดุจกัลยาณมิตร คอยประคับประคองใจของเราให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้ ก็จะค่อยๆ เลือนหายไป อยู่ในที่ระดับที่เราหมดความจำเป็นที่จะภาวนาต่อไปอีก
คือ ใจของเรารู้สึกว่า อยากหยุดนิ่งเฉยๆ อย่างสบายๆ อย่างนี้อย่างเดียวเท่านั้น อยากอยู่นิ่งๆ
นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ อยู่ที่กลางดวงใสๆ เหมือนเพชรของบริกรรมนิมิต อยากอยู่อย่างนี้อย่างเดียวเท่านั้น
ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้
เราก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามอย่างที่ใจอยากจะเป็น คือ อยากหยุดนิ่งเฉยๆ สบายๆ
อยากจะตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเดียว เราก็ปล่อยไป แต่ว่าเมื่อใดใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
เรื่องคน สัตว์ สิ่งของเป็นต้น เราจึงจะย้อนกลับมาภาวนา สัมมาอะระหังใหม่
ให้ประคองใจกันไปอย่างนี้จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง
สภาวใจเมื่อเข้าถึงดวงปฐมมรรค
พอใจหยุดนิ่งถูกส่วน
มันจะนิ่ง นุ่ม เบาสบาย ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในเอง ก็จะเคลื่อนเข้าไปเอง เหมือนมีการเดินทางเข้าไปสู่ภายใน
อย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วดวงใสๆ ดวงใหม่ ก็จะเกิดขึ้นมาแทนดวงเก่าที่เราอาศัยเป็นแก้วนำทางให้ใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
และก็พบดวงใหม่ ซึ่งเป็นแก้วต้นทาง
แก้วต้นทางนี้ เรียกว่า ดวงปฐมมรรค จะเป็นดวงใสๆ ที่มาพร้อมกับความรู้สึกใหม่ๆ
ที่เราไม่เคยเจอ คือ ความรู้สึกว่า เรามีความสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และก็ความบริสุทธิ์ที่เราปีติและภาคภูมิใจว่า
ใจของเรานั้น บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ที่เรายอมรับว่า ใจของเราบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ในระดับที่เห็นได้
เห็นความบริสุทธิ์เป็นภาพ เป็นดวงใสๆ และยอมรับว่า นี่คือความบริสุทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากจุดเริ่มต้นที่เราปรารถนา
และตั้งใจอยากจะให้ใจบริสุทธิ์ แต่ยังไม่เคยเจอความบริสุทธิ์
เพราะเราไม่รู้จักว่า
บริสุทธิ์นั้นมันเป็นอย่างไร แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่ดีที่สวนกระแสชาวโลก
ที่ปรารถนาความบริสุทธิ์ อยากให้ใจบริสุทธิ์ จนกระทั่งมาเจอความบริสุทธิ์จริงๆ
ซึ่งเกิดขึ้นกับใจของเรา แม้ยังไม่บริสุทธิ์ในระดับบรรลุมรรคผลนิพพาน
แต่เป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้นที่น่าดู น่าชม เป็นการเห็นอันวิเศษ เป็นภาพอันประเสริฐ
ดวงใสๆ
จะทำให้รักชีวิตสมณะ
ความบริสุทธิ์เบื้องต้นนี้แหละ
จะนำไปถึงความบริสุทธิ์ที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนเรามีความรู้สึกรักในชีวิตของสมณะ ชีวิตของบรรพชิต
เริ่มเข้าใจชีวิตของบรรพชิตว่า ชีวิตนักบวชนั้นสูงส่ง
และก็แตกต่างจากที่เราเคยเป็น ที่เราเคยเป็นคฤหัสถ์ และเรายังไม่เข้าใจชีวิตสมณะ
ชีวิตของบรรพชิต
แต่ว่าเมื่อไร เรามาถึงตรงนี้ เห็นความบริสุทธิ์เป็นภาพเกิดขึ้นกลางกายฐานที่
๗ เป็นดวงใสๆ เราจะเริ่มต้นเข้าใจ และก็จะให้ความรัก
ความสำคัญกับการบวชในครั้งนี้มาก จะเริ่มเข้าใจว่า การเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างไร เมื่อใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ เห็นเป็นดวงใสๆ และเรายอมรับว่า เรารู้สึกว่า บริสุทธิ์ เพราะความคิดของเราแตกต่างจากเดิม
เป็นความคิดที่บริสุทธิ์ ที่เกลี้ยงๆ ที่มีความสงัดกาย สงัดวาจา
และสงัดจากความคิดเดิมๆ ใจจะสงบนิ่ง
รักชีวิตของความสงบสงัด
และเราจะเริ่มมีความรู้สึกว่า สภาพชีวิตของเราตอนนี้ สภาพใจของเราตอนนี้ทั้งกายและใจเหมาะสมที่จะครองผ้ากาสาวพัสตร์
เป็นบรรพชิต จะได้บรรพชาเป็นสามเณร เป็นเทือกเถาเหล่ากอของสมณะ
ที่จะก้าวสู่ความเป็นสมณะต่อไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
การตอนแทนพระคุณพ่อแม่ที่แท้จริง
เราจะเริ่มมีความรู้สึกว่า เราได้เริ่มต้นในการตอบแทนพระคุณบิดามารดาอย่างถูกหลักวิชชา
เพราะที่ผ่านมา แม้เราจะเลี้ยงดูท่านอย่างดี หรืออยู่ในโอวาทท่านก็ตาม ความรู้สึก มันจะแตกต่างกัน
จากการที่เรามาถึงจุดตรงนี้ ความอิ่มใจ เมื่อเราได้ตอบแทนพระคุณท่าน ที่ผ่านมานั้นมันยังพร่องอยู่
มันยังไม่เต็มเปี่ยม เหมือนตุ่มก้นรั่ว หรือเราเอาชะลอมที่มีรูรั่วไปตักน้ำ มันไม่เต็ม
มันไม่อิ่มใจสักทีหนึ่ง แต่ถ้ามาถึงตรงนี้ เราเริ่มรู้สึกว่าจะอิ่มใจ
และอยากจะเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ ความเต็มเปี่ยมของชีวิตเพิ่มขึ้น
ความรู้สึกว่า ตอบแทนพระคุณบิดามารดา
จะเพิ่มพูนขึ้นไปทุกๆ วันที่ใจของเราหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เห็นดวงใสอยู่ตลอดเวลา
ทั้งหลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น นั่ง นอน ยืน เดิน ก็เห็นชัดใส
แจ่มกระจ่างอยู่กลางกายของเรา นั่งก็มีความสุข
มีความบริสุทธิ์ เหมือนเรานั่งไม่ติดกับพื้น เดินก็เหมือนเหินลอย มันฟ่องเบา เพราะใจเรามันใสๆ
เห็นดวงใสสว่างอยู่กลางกาย จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็เหมือนเหินลอย มันฟ่องเบา
กายเบา ใจเบา มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ
รบกับข้าศึกตัวจริง
ลูกธรรมทายาททุกคน จะต้องฝึกให้มาถึงจุดตรงนี้
เรากำลังก้าวเข้าไปสู่การเป็นนักรบกองทัพธรรมที่จะสู้กับข้าศึกที่แท้จริง
ซึ่งอยู่ภายในตัว โดยไม่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นข้าศึกข้ามชาติมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว
เป็นข้าศึกภายใน คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ความไม่รู้จริงเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย
สิ่งเหล่านี้คือข้าศึกที่แท้จริงอยู่ภายใน
เรากำลังจะเป็นนักรบกองทัพธรรมที่จะรบกับข้าศึก จะรบกับข้าศึกก็ต้องฝึกหนักอย่างถูกหลักวิชชา
คือ ต้องนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ ให้ใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ ผ่อนคลาย
ตรึกนึกถึงดวงใส ให้ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างละมุนละไม พร้อมกับประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา
สัมมาอะระหังๆๆ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565