กายดั้งเดิม
วันอาทิตย์ที่ ๑๔
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ พอสบายๆ
ไม่ถึงกับปิดสนิทนะจ๊ะ หลับตาพอสบายๆ ไม่ถึงกับเปลือกตาปิดสนิท คล้ายๆ เราปรือๆ
ตานิดๆ พอสบายๆ
แล้วก็ผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัว
ตั้งแต่กล้ามเนื้อบนใบหน้า ศีรษะ ลำคอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสอง ถึงปลายนิ้วมือ ให้ผ่อนคลาย
กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้าให้ผ่อนคลาย
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดีนะ ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ให้รู้สึกสบายๆ
เราใช้เวลาตรงนี้สัก ๑ นาทีนะ ปรับร่างกายให้สบาย
ปรับใจ
แล้วทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด
ให้ปล่อย ให้วาง เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน
เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ให้ปลด ปล่อยวาง
ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง เหมือนเราไม่เคยเจอมาก่อน คล้ายๆ เราอยู่คนเดียวในโลก ต้องปลดต้องปล่อยต้องวาง
พร้อมกับผ่อนคลาย ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส
ไร้กังวลกันนะ
นึกถึงบุญ
แล้วก็นึกถึงบุญที่เราทำผ่านมาในทุกๆ
บุญ ทั้งทาน ศีล ภาวนา บุญชวนคนทำความดี บุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างวัดวาอาราม
โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น หรือช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์ภัยต่างๆ
นึกถึงบุญเหล่านั้นด้วยใจที่เบิกบานแช่มชื่นว่า
เราได้มาเกิดในชาตินี้ไม่สูญเปล่า ได้เกิดมาสร้างบารมี
ได้มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
ทำให้เราได้เข้าใจเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตว่า เราเกิดมาทำไม
อะไรคือเป้าหมายของชีวิต และเราจะไปสู่เป้าหมายของชีวิตนั้นได้อย่างไร
เรามีบุญลาภอันสูงส่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
และเราก็ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ใช้ทุกวันเวลาที่ผ่านมาสั่งสมบุญบารมี ทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมี ทั้งทำด้วยตัวเองและก็ไปชวนคนอื่นมาทำด้วย
ให้ลูกทุกคนนึกถึงบุญต่างๆ
เหล่านี้ด้วยจิตใจที่ชุ่มชื่น เบิกบาน ให้ใจใสๆ ให้บุญบารมีทั้งหมดนี้
มาประคับประคองใจของเราให้หยุดนิ่งได้ ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้
วางใจ
แล้วเราก็ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือนะ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒
เส้น เรานำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม
เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุด ที่เราจะต้องเอาใจของเราที่คิดไปในเรื่องราวต่างๆ
แวบไปแวบมา มารวมหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้นะ
ฐานที่ ๗ ตำแหน่งที่สำคัญที่สุด
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุด
ที่นอกเหนือจากเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ
ที่ตื่นของเราแล้ว ยังเป็นต้นทางไปสู่การดับทุกข์
หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เป็นตำแหน่งที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ
พระองค์ นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน ท่านนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
เมื่อท่านทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
แม้กระทั่งเลือดเนื้อและชีวิตจะแห้งเหือดหายไป
ก็ช่างมัน ปล่อยชีวิตแล้วใจก็จะมาหยุดนิ่งๆ อยู่ที่ตรงนี้ นิ่งๆ นุ่มๆ
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดนิ่งอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ แล้วท่านก็เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว เข้าถึงทางสายกลางภายใน เป็นแนวดิ่งเข้าไปสู่ภายใน ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านได้เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้นปรากฏเกิดขึ้นในกลางเมื่อใจหยุดนิ่ง
ดวงภายใน
พอถูกส่วนก็ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน เหมือนหล่นลงไปสู่ที่กว้างโล่ง คล้ายๆ อวกาศ
แล้วก็มีดวงธรรมลอยเกิดขึ้นมาเป็นดวงใสๆ คล้ายๆ กับเพชรที่เจียระไนแล้ว
ไม่มีตำหนิเลย กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรือใสเย็นสบายกว่าความใสใดๆ ในโลก เป็นดวงสว่างปรากฏเกิดขึ้นที่กลางกาย ตรงตำแหน่งที่ฐานที่
๗ ตรงนี้ มาพร้อมกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ
ที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลย แม้ชีวิตทางโลกท่านจะสมบูรณ์ด้วยโลกียทรัพย์
แต่ไม่เคยให้ความสุขเท่ากับสิ่งนี้
ธรรมดวงนี้มาพร้อมกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ
มาพร้อมกับใจที่บริสุทธิ์เกลี้ยงเกลา
ไม่ติดอะไรเลย ไม่ผูกพันกับอะไรทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ อะไรต่างๆ ใจใสๆ เย็นๆ
มาพร้อมกับความสว่างที่แจ่มแจ้ง สว่างมากๆ ใสมากๆ สุขมากๆ บริสุทธิ์มากๆ
แล้วใจท่านก็นิ่งแน่น นุ่มนวล
ละเอียดอ่อน นิ่งอยู่ในกลางดวงนั้นแหละ ก็เห็นไปตามลำดับ คือ ธรรมดวงนั้นก็จะขยายกว้างออกไป
แล้วก็มีธรรมดวงใหม่ปรากฏเกิดขึ้นเรียกว่า ดวงศีล ที่มาพร้อมกับความสุข บริสุทธิ์ที่มากกว่าเดิม
ทั้งสุข ทั้งบริสุทธิ์ ความสว่าง ชัด ใส สว่าง พร้อมหมดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
กระทั่งกลางดวงศีล ท่านก็เข้าถึงดวงสมาธิ
กลางดวงสมาธิก็เข้าถึง ดวงปัญญา
กลางดวงปัญญาท่านก็เข้าถึง ดวงวิมุตติ
กลางดวงวิมุตติก็เข้าถึง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ทุกๆ ดวงกลมรอบตัวเหมือนกัน
แต่ว่าใสบริสุทธิ์แตกต่างกันไป ซ้อนๆ กันอยู่ภายในเป็น ๑ ชุด ชุดละ ๖ ดวง อย่างนี้
กายภายใน
ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านก็เข้าถึง
กายมนุษย์ละเอียด
ลักษณะคล้ายๆ กับกายหยาบ แต่ว่าอยู่ในวัยเจริญ ในอิริยาบถสมาธิ ที่ดูแล้วสดชื่น เบิกบาน
เป็นกายภายในที่ซ้อนอยู่ในกลางกายภายนอก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กายฝัน หรือ กายไปเกิดมาเกิด
เวลาเรานอนหลับ กายมนุษย์ละเอียดนี้ก็ออกไปทำหน้าที่ฝัน
ท่านจะเห็นกายในกายอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เป็นคู่ๆ เข้าไป
ในกลางกายมนุษย์ละเอียด
ก็ผ่านดวงธรรมทั้ง ๖ นั้น ที่ใสบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น กลั่นใจของท่านให้ละเอียดอ่อน
นุ่มนวลเพิ่มขึ้น บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ทำให้เข้าถึงกายที่ประณีต
ชีวิตที่ประเสริฐกว่าเดิมเพิ่มขึ้น เป็น กายทิพย์ ที่สวยงาม
มีเครื่องประดับประดาเหมือนชาวสวรรค์ในอิริยาบถเดียวกัน
ในกลางกายทิพย์หยาบ ก็มีกายทิพย์ละเอียด
ท่านก็ดูอย่างเดียว นิ่งอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ในกลางกายทิพย์ ก็เข้าถึง กายรูปพรหม
ที่สวยงามประณีตหนักยิ่งขึ้น
ในกลางกายรูปพรหม ท่านก็เข้าถึง กายอรูปพรหม สวยงามมากขึ้น
เป็นกายในกายซ้อนๆ กันอยู่
ในกลางกายอรูปพรหม ท่านก็เข้าถึง กายธรรมโคตรภู คือ กายองค์พระเกตุดอกบัวตูม
ลักษณะสวยงามมาก ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ ใสเกินใสกว่าความใสใดๆ ในโลก หน้าตักหย่อนกว่า ๕
วา นิดหน่อย
ในกลางกายธรรมโคตรภู ท่านก็เข้าถึง กายธรรมพระโสดาบัน
หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา
ในกลางกายธรรมพระโสดาบัน
ท่านก็เข้าถึง กายธรรมพระสกิทาคามี
หรือพระสกทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา
ในกลางกายธรรมพระสกิทาคามี
ท่านก็เข้าถึง กายธรรมพระอนาคามี
หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา ใสบริสุทธิ์หนักยิ่งขึ้นไป
ในกลางกายธรรมพระอนาคามี
ท่านก็เข้าถึง กายธรรมอรหัต
หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใสบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น
เป็นกายสุดท้ายที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
แต่ละกายก็จะเป็นคู่ๆ กันไปอย่างนี้แหละ
ถ้ากายพระโสดาบันหยาบ เขาเรียกว่าโสดาปัตติมรรค ถ้ากายธรรมพระโสดาบันละเอียด เขาเรียกว่า โสดาปัตติผล
เพราะฉะนั้น มรรคผลนิพพานก็อยู่ในกลางกาย
ผ่านกลางกายของเรา แต่ว่าประณีตขึ้น เป็นคนละมิติกัน
ที่ใสที่บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ท่านเข้าถึงแต่ละกายเหล่านี้ด้วยใจที่หยุดนิ่งอย่างเดียว
เฉยๆ อย่างสบายๆ ดื่มด่ำกับความสุข ความบริสุทธิ์ที่บังเกิดขึ้น
แล้วก็เห็นไปตามลำดับ เห็นถึงไหนก็เป็นถึงนั่น เพราะบารมี ๓๐ ทัศ ท่านเต็มเปี่ยม
ก็ส่งผลให้ท่านหลุดล่อนจากกิเลสอาสวะไปตามลำดับ
จากกายหนึ่งไปถึงอีกกายหนึ่งต่อๆ
กันไป กระทั่งถึงกายสุดท้าย กายธรรมอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ใสบริสุทธิ์
สว่างมากๆ หลุดล่อนไปเลยจากกิเลสอาสวะ เหมือนเงาะที่เนื้อไม่ติดเปลือกอย่างนั้นแหละ
มันล่อนเป็นชั้นๆ ไป
ทุกคนสามารถบรรลุธรรมได้
ลูกทุกคนมีบุญมาก
ที่ได้เกิดในร่มเงาของพระพุทธศาสนา
มาได้ยินได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สามารถน้อมนำมาปฏิบัติ แล้วได้บรรลุธรรมด้วยตัวของตัวเองได้
หลุดพ้นดับทุกข์ได้ด้วยตัวของตัวเอง อาศัยตัวเราเป็นที่พึ่งแก่ตัวเรา อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ
ไม่ต้องไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ
เราอาศัยแค่ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ได้พิสูจน์ด้วยพระองค์เองแล้ว
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ค้นพบด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งดับทุกข์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้
แล้วก็มาสอนเราสืบทอดกันต่อๆ กันมาอย่างนี้
เราแค่ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน
ท่านให้ทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น ท่านเป็นอย่างไร เราก็จะเป็นอย่างนั้น
ก็จะมีประสบการณ์ภายในด้วยตัวของตัวเอง เมื่อใจของเราได้ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
หยุดนิ่งอย่างเดียว ก็จะเข้าถึงแล้วก็เห็นไปตามลำดับดังกล่าว
ทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวของเรานี้
กายดั้งเดิม
กายธรรม คือ กายที่สำคัญที่สุด
เพราะว่าเป็นกายตัวจริงของเราที่คงที่ มีแต่สุขล้วนๆ เป็นที่พึ่งแก่ตัวเราได้ในยามที่เราระลึกถึง
และเข้าถึง ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาวะอะไรก็ตาม จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา
กายธรรมนี้เรียกว่า พุทธรัตนะ
พุทธะ แปลว่า
ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
กายธรรมมีธรรมจักขุ มีญาณทัสสนะ จักขุ
ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง จึงไม่มีอะไรกำบังเลย แปลว่า ท่านก็เห็นแจ้งในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายด้วยธรรมจักขุ
เห็นถึงไหนก็รู้ถึงนั่น แจ่มแจ้งทีเดียว
กายท่านใสเกินความใสใดๆ ในโลก จึงเทียบกับรัตนะที่เราพอจะเข้าใจ แต่ว่ารัตนะเหล่าใดในโลกนี้ หรือบนสวรรค์
หรือในพรหม อรูปพรหม ในภพทั้งสามนี้ไม่อาจเทียบเท่ากับพุทธรัตนะนี้ได้ว่าเป็นรัตนะ
ของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ทั้งสวย ทั้งงาม ทั้งประกอบด้วยความรอบรู้ต่างๆ
รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานของชีวิต
หลุดพ้นจากความไม่รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต พ้นจากความสงสัย
ความไม่เข้าใจในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายได้ แจ่มแจ้งด้วยตัวของตัวเอง
จึงเป็นกายที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง สิ่งอื่นนอกจากนี้ไม่ใช่
และนี่ก็เป็นกายดั้งเดิมของเรา ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนมาเป็นกายที่เป็นอนัตตาที่ไม่ใช่ตัวเรา
ไม่ใช่กายดั้งเดิม เพราะว่ากายหยาบหรือกายต่างๆ ที่นอกเหนือจากธรรมกายนั้น
เป็นกายที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ไปสู่จุดสลาย
จะบังคับบัญชาให้ได้เป็นไปตามความปรารถนาของเราก็ไม่ได้ ไม่เป็นอิสรภาพ
ประดุจเชลยศึกของกิเลสอาสวะของพญามาร กายธรรมนี่แหละพ้นจากกิเลสอาสวะ จากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร
บริกรรมนิมิต
วันนี้ลูกทุกคน
ผู้มีบุญทั้งหลายได้ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง เข้าวัดมาเพื่อปฏิบัติธรรม
แสวงหาพระรัตนตรัยในตัว ก็ให้ตั้งอกตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันให้ดี
โดยกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นให้เป็นหลักยึดของใจ
ให้เป็นที่เกาะของใจในตำแหน่งที่ถูกต้อง
คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพื่อใจจะได้ไม่ซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่นที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานของชีวิต
วุ่นวาย ไม่เคยเจอความสุข ที่กระเจิดกระเจิงไปจากตำแหน่งที่ตั้งดั้งเดิม พญามารเขาตรึงไปติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ธรรมารมณ์ คน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น ในสิ่งที่ยังอยู่ในสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นอนัตตา ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วไปสู่จุดสลายเช่นเดียวกัน
ใจถูกดึงไปตรงนั้น
หลุดจากตำแหน่งดั้งเดิม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาหลักยึดเพื่อนำใจกลับไปสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องดีงามและเป็นจุดดั้งเดิม
ก่อนที่จะถูกพญามารระเบิดหลุดออกมา คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
ให้กำหนดบริกรรมนิมิตเป็นที่ยึด เป็นที่เกาะ
เหมือนเราจะเดินเซซวนที่ไหน เราจับสิ่งที่มั่นคงยึดเอาไว้เป็นที่เกาะที่พาเราไป
ให้เราตั้งหลักได้ ตั้งหลักของใจได้
หรืออีกประการหนึ่ง เหมือนเราว่ายน้ำอยู่ในกลางทะเลกำลังจะจมน้ำ
มีขอนไม้ลอยมาก็อาศัยเกาะเป็นที่พึ่งพยุงตัวให้พ้นจากการจมน้ำตาย
หรืออีกประการหนึ่ง คำว่า เกาะ คือสิ่งที่โผล่พ้นน้ำ แม้มีน้ำล้อมรอบก็พ้นน้ำ น้ำในที่นี้ก็อุปมาเหมือนกระแสธารแห่งกิเลส
ห้วงโอฆะแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เกาะนี้คือสิ่งที่พ้นน้ำที่สวนกระแสที่กิเลสอาสวะไม่อาจจะมาครอบงำได้
เกาะนี้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องที่เดียวที่จะพ้นโอฆะ
ข้ามห้วงวัฏสงสารได้ ห้วงน้ำคือกาม เป็นต้น
เราจะต้องยึดเกาะในตำแหน่งตรงนี้ให้ได้
ดังนั้น ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ
นึกถึงเพชรสักเม็ดหนึ่งใสๆ กลมรอบตัว โตขนาดไหนก็ได้ หรือจะเป็นองค์พระใสๆ
ที่เราคุ้นเคยก็ได้ แต่ให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องดั้งเดิม
คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่ในบริเวณกลางท้องของเรา ให้นึกอย่างสบายๆ คล้ายๆ
กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย นึกเบาๆ
สบายๆ แล้วก็ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ ใจใสๆ ใจเย็นๆ
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง
ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ โดยให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
ไม่ใช่ที่สมองนะจ๊ะ ดังออกมาจากในกลาง ท้องของเรา
กลางบริกรรมนิมิตใสๆ ที่จะเป็นดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ
ภาวนาไปอย่างสบายๆ ใจเย็นๆ ว่า
สัมมาอะระหังๆๆ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ ในทุกครั้งที่เราภาวนา สัมมาอะระหัง
หรือตรึกนึกถึงองค์พระใสๆ ใจหยุดอยู่ในกลางองค์พระใสๆ อย่างสบายๆ
ภาวนา สัมมาอะระหัง เรื่อยไป
จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง จนทิ้งคำภาวนาไปเองหรือเกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง
อีกต่อไป อยากหยุดใจนิ่งเฉยๆ อยากหยุดใจนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ
ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องภาวนา สัมมาอะระหัง อีกต่อไป
แต่ว่าเมื่อใดใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น เราจึงย้อนกลับมาภาวนา สัมมาอะระหัง ใหม่
ให้ประคับประคองใจกันไปอย่างนี้
เช้านี้อากาศกำลังสดชื่นแจ่มใส
เย็นสบาย เหมาะสมที่ลูกๆ ผู้มีบุญทุกคน จะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา
ก็ให้ประคับประคองใจกันไปอย่างสบายๆ เบิกบานและแช่มชื่น
ขอให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระธรรมกายทุกๆ คนนะลูกนะ
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565