หาพระในตัวให้เจอ
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๕๓ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ
อย่าไปบีบเปลือกตัว อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ ทำตาปรือๆ ไม่ถึงกับปิดสนิท พอสบายๆ
แล้วก็ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้มีความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน
ให้รู้สึกว่าผ่อนคลายสบาย
ปรับใจ
ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด
บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง
ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ
เรื่องธุรกิจการงาน บ้านช่อง เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด
ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง
วางใจ
ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น
เรานำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติว่า เราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลาง
มาวางซ้อนกัน แล้วก็นำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง เหนือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่
๗
ความสำคัญของ
ฐานที่ ๗
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นตำแหน่งที่สำคัญ เป็นตำแหน่งที่ผู้รู้เก่าแก่ดั้งเดิมในอดีต
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
ทุกพระองค์ไม่มีเว้นเลยแม้แต่พระองค์เดียว
ที่ท่านจะตรัสรู้ธรรมบรรลุธรรมอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ใจของท่านจะมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ตำแหน่งนี้สำคัญ เป็นตำแหน่งที่จะทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง
มีความบริสุทธิ์ มีความรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรม
ในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย แทงตลอดในเรื่องราวเกี่ยวกับตัวของเราเอง
พญามารดึงใจเราให้ห่างจากฐานที่
๗
ตำแหน่งตรงนี้ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งพญามารกันนักกันหนาที่จะไม่ให้ใจของเรากลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม โดยดึงใจของเราหลุดออกจากตำแหน่งตรงนี้
ให้ไปติดเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ให้ติดสิ่งที่เห็นด้วยตา
ได้ยินด้วยหู ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก ได้รับรสด้วยลิ้น สัมผัสด้วยกาย นึกคิดด้วยใจ
ให้หลุดออกไปติดในสิ่งเหล่านั้น ทำให้เกิดความยินดียินร้าย และเป็นต้นเหตุแห่งการสร้างวิบากกรรม
ซึ่งมีผลทำให้ชีวิตของเราทุกข์ทรมาน ไม่เคยเจอความสุขที่แท้จริง ชีวิตก็วนเวียน
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ
วนเวียนแบบผู้ที่ไม่รู้ว่า ตัวเองยังไม่รู้อะไรเลย
และก็ไม่รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต กระทั่งไม่รู้วิธีที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานของชีวิตของตัวเราเอง
ของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย จึงเป็นความลับสำหรับเราตลอดเวลา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบฐานที่
๗
จนกระทั่งมีการบังเกิดขึ้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่ท่านสั่งสมบารมี เริ่มเอาใจออกห่างจากเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
ความผูกพัน ความเพลินอะไรต่างๆ ความทะยานอยาก เป็นต้น
ความหิวกระหายในเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ ใจก็ค่อยๆ หลุดออกมาจากสิ่งเหล่านั้น
จนกระทั่งมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซ้ำๆ เมื่อบารมีเต็มเปี่ยม ก็หยุดนิ่งได้สนิทที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ แล้วเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตก็ถูกเปิดเผยขึ้น
ใจตกศูนย์เข้าถึงดวงธรรม
เมื่อใจท่านหยุดนิ่งถูกส่วน
ก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน แสงสว่างส่องทางชีวิตก็บังเกิดขึ้น
เป็นแสงสว่างที่สวยงามกว่าแสงสว่างใดๆ ในโลก กว่าแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
ดวงดาว หรือแสงที่มนุษย์ประดิษฐ์ จะเห็นเส้นทางสายกลางเป็นแนวดิ่งเข้าไปสู่ภายใน
เมื่อใจตกศูนย์หลุดจากกายหยาบไปสู่ที่โล่งกว้าง
แล้วก็มีดวงธรรมลอยขึ้นมา เกิดเป็นดวงใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
หรือยิ่งกว่านี้ อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
หรือใหญ่กว่านี้ แล้วแต่กำลังบารมีที่ไม่เท่าเทียมกัน ก็จะปรากฏเกิดขึ้นตรงตำแหน่งศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้
ธรรมดวงนี้มาพร้อมกับความสุข
ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน สุขที่ไม่มีประมาณ ความบริสุทธิ์ ความเบิกบาน ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง
ทำให้ใจนิ่งแน่นอยู่ในกลางธรรมดวงนั้น และก็เห็นไปตามลำดับในเส้นทางสายกลางภายในที่เป็นแนวดิ่งลงไป
แต่ขยายออกไปรอบตัวทุกทิศทุกทาง
๑๘ กาย
นิ่งเข้าไปเห็นเป็นชั้นๆ เข้าไป
เห็นธรรมในธรรม ดวงธรรมในดวงธรรม เห็นกายในกาย
ชีวิตที่สลับซับซ้อนอยู่ภายในที่ประณีตยิ่งขึ้น บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น สวยงามขึ้น คือ
ได้เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดที่มีลักษณะเหมือนตัวเอง เหมือนตัวเราเอง
อยู่ในอิริยาบถสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา
กายมนุษย์ละเอียด หรือ กายฝัน
เมื่อเรานอนหลับเราฝันไป กายนี้แหละออกไปทำหน้าที่ฝัน หรือกายไปเกิดมาเกิดก็กายนี้
ในกลางกายมนุษย์ละเอียด ก็จะมีกายทิพย์
ที่ประณีตสวยงามกว่ากายมนุษย์ละเอียด สวยเพิ่มขึ้นประณีตเพิ่มขึ้นซ้อนอยู่
ในกลางกายทิพย์ ก็จะมีกายรูปพรหมซ้อน
ใสบริสุทธิ์ประณีตหนักยิ่งขึ้น
ในกลางกายรูปพรหม ก็มีกายอรูปพรหมซ้อนอยู่
ในกลางกายอรูปพรหม ก็มีกายธรรมโคตรภูซ้อนอยู่
หน้าตักหย่อนกว่า ๕ วานิดหน่อย อยู่ในกลางกายอรูปพรหม
กายธรรมโคตรภูนี้ ลักษณะสวยงามมาก
งามไม่มีที่ติ เกตุดอกบัวตูม อยู่ในอิริยาบถสมาธิ ไม่มีกิจที่จะต้องทำแบบมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องยืน
เดิน หรือนอน หรือทำกิจที่มนุษย์ทำ เป็นกายที่ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ
ใสเกินความใสใดๆ ในโลก เป็นกายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว เป็นกายดั้งเดิมของตัวเราเอง
ก่อนที่จะแปรผันมาเมื่อกิเลสห่อหุ้มหนาขึ้นถึงกายหยาบ
ในกายธรรมโคตรภูก็มีกายธรรมพระโสดาบันซ้อนอยู่
หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา
ในกลางกายธรรมพระโสดาบัน
ก็มีกายธรรมพระสกทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา ซ้อนอยู่
ในกลางกายธรรมพระสกทาคามี
ก็มีกายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา ซ้อนอยู่
ในกลางกายธรรมพระอนาคามีก็มีกายธรรมพระอรหัต
หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ซ้อนอยู่
แต่ละกายก็มีกายละเอียดเป็นคู่กัน คล้ายๆ
กับกายมนุษย์หยาบก็มีกายมนุษย์ละเอียด ทิพย์ พรหม อรูปพรหม กายธรรมต่างๆ
ก็มีกายหยาบ กายละเอียดซ้อนๆ กันอยู่ รวมแล้วทั้งหมด ๑๘ กาย
กายธรรมอรหัตผล
เป้าหมายของชีวิต
กายธรรมอรหัตผล
กายสุดท้าย คือ เป้าหมายของชีวิตที่จะทำให้หลุดพ้นจากในสังสารวัฏ กายธรรมนี่แหละเป็นตัวพระรัตนตรัย
เป็นพุทธรัตนะ เป็นกายที่ใสเกินความใสใดๆ ในโลก เป็นกายของผู้ที่รู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง
เพราะว่า มีธรรมจักขุ มีญาณทัสสนะ มีจักขุ มีญาณ มีปัญญา มีวิชชา แสงสว่าง
เกิดขึ้นในกายนี้
เป็นกายดั้งเดิมของตัวเรา
เป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง เพราะในกายนี้ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขอย่างเดียว
เป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของกิเลสอาสวะไปตามลำดับ จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลส
กายนี้เป็นที่พึ่งในยามที่เรามีทุกข์ เมื่อเข้าถึงกายนี้ความทุกข์ก็จะดับไป
มีแต่ความสุขล้วนๆ เกิดขึ้น
เป็นประดุจหลุมหลบภัยที่ปลอดภัยของชีวิตในสังสารวัฏ
ปลอดจากภัยทั้งปวงภัยจากอบาย ภัยต่างๆ ทั้งหมด จึงเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของเรา สิ่งอื่นไม่ใช่ เป็นที่ระลึก เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่เราควรจะระลึกนึกถึง
เพราะนึกแล้วก็อบอุ่นใจ สุขใจ ปีติใจ มีความบริสุทธิ์หล่อเลี้ยง
มีอานุภาพอันไม่มีประมาณ จะเป็นอยู่ด้วยตัวของเราเอง
เป็นกายที่เปิดเผยความลับของชีวิตได้ เรื่องราวของตัวเราเองนี้จะถูกเปิดเผย
เมื่อเราเข้าถึงกายธรรมนี้ เพราะฉะนั้นกายนี้จึงเป็นกายที่สำคัญ
คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นจากการได้บรรลุกายธรรมนี้
คือกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อท่านเข้าถึงกายนี้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
กิเลสทั้งหลายก็หลุดล่อน ไม่อาจที่จะบังคับบัญชาครอบงำกายนี้ได้ ก็เป็นอิสรภาพ
เพราะฉะนั้น ใจของท่านจึงไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง
ไม่มีอะไรกำบังธัมมจักขุและญาณทัสสนะของท่าน ความเป็นสัพพัญญูก็เกิดขึ้น
คือรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง ในโลกทั้งหลาย สรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย
แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาลอยู่ในสายตาของท่าน นิพพาน ภพสาม โลกันตร์
ก็จะอยู่ในสายตาของธัมมจักขุที่เกิดขึ้นพร้อมกับการบังเกิดขึ้นของพระธรรมกาย
กายนี้จึงสำคัญ
เกิดมาเพื่อหาพระในตัว
เราเป็นชาวพุทธก็จะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงกายนี้ให้ได้
เพราะกายนี้มีอยู่ในตัวของเรา เช่นเดียวกับอยู่ในกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระอรหันต์ทั้งหลาย และกายธรรมนี้ก็มีอยู่ในมนุษย์ทุกๆ คนในโลก
ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ใด จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ล้วนมีหมด
มีอยู่ในกายของชาวสวรรค์ ของพรหม ของอรูปพรหม ต่างแต่ว่าจะเข้าถึงหรือไม่
แม้สรรพสัตว์ที่ตกไปในอบายก็ล้วนมีกายนี้ แต่ว่าวิบากกรรมบดบังอยู่
ให้ไปเสวยความทุกข์ทรมาน จึงไม่มีโอกาสได้รู้จักกายนี้
เราเป็นชาวพุทธได้โอกาสนี้แล้ว เพราะฉะนั้นให้ใช้โอกาสนี้
ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงกายธรรมนี้ให้ได้ อย่าให้โอกาสที่ดีของชีวิตนี้
เป็นวิกฤติของชีวิต ในการเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว
ยังมาพบพระพุทธศาสนา ยังรู้หนทางปฏิบัติที่จะเข้าถึงธรรมกาย จึงเป็นโอกาสที่ดีของเรา
ชีวิตทางโลกนั้น
มีแต่เครื่องพันธนาการของชีวิต จากพันธนาการหนึ่งไปสู่อีกพันธนาการหนึ่ง
ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ล้วนแต่อยู่ในเครื่องพันธนาการของชีวิตทั้งสิ้น เราคาดหวังว่าสิ่งที่เราอยากจะได้ในอนาคต
จะเป็นสิ่งที่ปลดพันธนาการเก่าของชีวิตเราลงไปได้ แต่ของใหม่ก็ยังมีพันธนาการของชีวิต
เป็นอย่างนี้ไปจนกระทั่งหมดอายุขัย
แต่เราจะพ้นจากพันธนาการของชีวิตได้
ต้องนำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วหยุดนิ่งอย่างเดียว ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ให้เข้าถึงพระธรรมกายที่มีอยู่แล้วในตัวของเราให้ได้ ชีวิตของเราก็จะมีอิสรภาพ
พ้นจากเครื่องพันธนาการของชีวิต อยู่เป็นสุขได้ด้วยตัวของตัวเอง แม้อยู่คนเดียวตามลำพัง
ในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน นอกบ้าน ในป่าเขาลำเนาไพร หรือที่ไหนก็ตาม
ชีวิตก็จะมีความสุข
บริกรรมนิมิต
เมื่อเราเข้าใจหลักอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไป
เราก็จะได้นำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ ด้วยการกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ
ให้เป็นหลักที่ยึดที่เกาะของใจเราให้อยู่กับฐานที่ ๗ จะไม่ซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่น คิดแล้วก็มีแต่ความทุกข์
ให้ใจมาอยู่กับหลักของชีวิตที่มีแก่นสาร
กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาเป็นดวงใสๆ เป็นเพชรสักเม็ดหนึ่ง
ที่กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ขนาดไหนก็ได้ที่ใจเราชอบ ให้นึกอย่างง่ายๆ สบายๆ คล้ายๆ
กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย นึกอย่างเบาๆ สบายๆ แล้วก็ต้องใจเย็นๆ อย่าไปลุ้น ไปเร่ง
ไปเพ่ง ไปจ้อง นึกไปด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลาย อารมณ์บันเทิง ร่าเริง ไร้เดียงสา เหมือนตอนเราอยู่ในวัยเด็ก
ต้องนึกเบาๆ สบายๆ ง่ายๆ ไร้เดียงสา เหมือนเราอยู่ในวัยเด็ก
นึกถึงเพชรเม็ดนี้ด้วยใจที่เบิกบาน ชุ่มไปด้วยบุญกุศลที่เราสั่งสมมาอย่างดีแล้ว
ให้มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจในการระลึกนึกถึงบริกรรมนิมิตที่ใสบริสุทธิ์
เป็นเพชรลูกที่ใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว สว่าง เหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
แต่ว่าแสงใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ให้นึกไปอย่างเบาๆ สบายๆ ต่อเนื่อง
ให้มีสติ สบาย สม่ำเสมอต่อเนื่องกันไป
บริกรรมภาวนา
ประคองใจให้หยุดนิ่ง ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ
โดยไม่ใช้กำลังในการภาวนา เหมือนเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน เสียงที่เป็นแก้วใสๆ ดังออกมาจากกลางกายของเราในตำแหน่งเดียวกันกับดวงใสๆ
ไม่ใช่ดังที่สมองนะจ๊ะ ให้ดังออกมาจากในกลางท้องอย่างสบายๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ เหมือนเป็นเสียงที่มาจากอายตนนิพพาน
ที่ผ่านมาในกลางกายของเรา
ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจ กลั่นใจของเราให้ใสๆ
ให้บริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมอง กลั่นใจของเราให้หลุดจากวิบากกรรม วิบากมาร
อุปสรรคต่างๆ นานาของชีวิต กลั่นจนใจของเราเห็นเป็นดวงใสๆ
สัมมาอะระหังๆๆ กี่ครั้งก็ได้
จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง หมดความจำเป็นที่จะต้องภาวนาสัมมาอะระหัง ต่อไป
ใจอยากหยุดนิ่งอย่างเดียว ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องภาวนา สัมมาอะระหัง
อีกต่อไป แต่ว่าเมื่อใดใจยังฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น เราจึงย้อนกลับมาภาวนา สัมมาอะระหังใหม่
ประคองใจกันไปอย่างนี้ อย่าให้เผลอจากบริกรรมทั้งสอง
เช้านี้อากาศกำลังสดชื่น แจ่มใส เย็นสบาย
เหมาะสมที่ลูกทุกคนซึ่งเป็นผู้มีบุญ จะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้า
ให้ถูกหลักวิชชา ก็ขอให้ประคับประคองใจกันไป ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ
ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565