การดูเฉยๆ คือการหยุดใจ
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ
ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ
ปรับใจ
และก็ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง แล้วก็ทำใจให้ว่างๆ
สมมติว่า
ภายในร่างกายของเรานั้น ปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต ไส้ใหญ่ ไส้น้อย เป็นต้น
ให้เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง เป็นที่โล่งๆ ว่างๆ กลวงภายใน เหมือนลูกโป่งที่เราอัดลมเข้าไป
กลวงภายใน คล้ายๆ ท่อแก้ว เป็นท่อเพชรใสๆ
วางใจ
เราก็นึกน้อมนำใจของเราใจที่คิดแวบไปแวบมา
ไปในเรื่องราวต่างๆ มารวมหยุดนิ่งๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างสบายๆ มารวมใจหยุดนิ่งๆ
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า
เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง
ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา
๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเราจะต้องเอาใจมาหยุด มานิ่งอยู่ที่ตรงนี้
สำหรับผู้มาใหม่
ให้นึกน้อมใจไว้ในกลางในระดับนี้ แต่ก็ต้องทำความรู้จักว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ที่ตรงนี้
ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจน ต่อเมื่อใจเราหยุดนิ่งได้สนิทสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว เราก็จะต้องน้อมใจ
มาหยุดนิ่งๆ อย่างสบายๆ อยู่ที่ตรงนี้
ฐานที่
๗ ต้นทางพระนิพพาน
ฐานที่
๗ ตรงนี้แหละ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินทางเข้าไปสู่อายตนนิพพาน เป็นทางสายกลางภายใน
จุดเริ่มต้นหนทางแห่งพระอริยเจ้า ที่เรียกว่า อริยมรรค
บางทีก็เรียกว่า
วิสุทธิมรรค เส้นทางแห่งความบริสุทธิ์ หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย
บางทีก็เรียกว่า
วิมุตติมรรค คือ เส้นแห่งความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
เพราะกิเลสอาสวะ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา เป็นต้น บังคับให้เราต้องมีความโลภ ความโกรธ
ความหลง กระทำความผิดพลาดทางกาย วาจา ใจ และก็มีวิบากกรรมเป็นผล คือ ความทุกข์ทรมานของชีวิตในทุกระดับเลย
เราจึงจำเป็นจะต้องขจัดกิเลสอาสวะให้มันหมดสิ้นไป
เพราะเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ของชีวิตซึ่งจะขจัดสิ่งเหล่านี้ได้ ก็มีเพียงวิธีการเดียว
คือ ต้องปลดปล่อยวางในเรื่องราวต่างๆ ไม่ผูกพันกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นในโลกนี้ โลกอื่น
ในภพภูมิต่างๆ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีสาระแก่นสารอะไร เป็นของที่เปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายหายไปในที่สุด
เพราะฉะนั้น
ต้องไม่ผูกพันกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แล้วใจจะกลับมาหยุดนิ่งในที่ตั้งดั้งเดิม ที่ถาวร
คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
นอกจากหยุดกับนิ่งอย่างเดียว จึงจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ต้องหยุดเป็นตัวสำเร็จอยู่ตรงนี้
บริกรรมนิมิต-บริกรรมภาวนา
กำหนดบริกรรมนิมิตกับบริกรรมภาวนา
๒ อย่างนี้ควบคู่กันไป เพื่อประคองใจให้หยุดให้นิ่ง ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เพราะว่าใจคุ้นเคยกับการส่งไปข้างนอก
ไปติดในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ คน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจ การงาน บ้านช่อง
การศึกษาเล่าเรียน สนุกสนาน เพลิดเพลินอะไรต่างๆ เหล่านั้น เป็นต้น เราได้ห่างเหินจากศูนย์กลางกายฐานที่
๗ มานาน ชีวิตจึงมีแต่ความทุกข์ทรมานมาตลอด เราก็จะต้องมาหยุดมานิ่งตรงนี้ เมื่อใจไม่ผูกพันกับสิ่งใด
ใจก็จะกลับมาหยุดนิ่งเองที่ศูนย์กลางกาย
กำหนดบริกรรมนิมิต
เราจะนึกถึงพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญที่สว่างไสว เหมือนดวงตะวันตอนเที่ยงก็ได้ นึกไว้ในกลางกาย
ให้เป็นที่ยึด ที่เกาะของใจเรา ใจจะได้ไม่ไปแวบ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น และก็ประคองใจให้อยู่บริเวณนี้
อยู่กับพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรือดวงแก้วใสๆ หรือเพชรสักเม็ดหนึ่งใสๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ บริเวณนี้
พร้อมกับประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา
สัมมาอะระหังๆ ๆ เรื่อยไปเลย จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่ง
จะทิ้งคำภาวนาไปเอง คือ เกิดความรู้สึกว่า เราไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง
ต่อไป อยากหยุดใจนิ่งเฉยๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้
เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่ แต่ว่าเมื่อใดใจฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่น เราจึงย้อนกลับมาภาวนา
สัมมาอะระหัง ใหม่เรื่อยไป จนกว่าใจจะหยุดจะนิ่ง ให้ประคองใจกันไปอย่างนี้นะจ๊ะ อย่าไปทำอะไรที่นอกเหนือไปจากนี้
เพราะวัตถุประสงค์ที่เราทำอย่างนี้ ก็เพื่อต้องการให้ใจหยุดนิ่งนั่นเอง
สภาวธรรมภายใน
พอถูกส่วนแล้ว
เดี๋ยวเราก็จะเห็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเรา มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปทำให้มีอย่างเช่น ความโล่ง
โปร่ง เบา สบาย ตัวขยาย ตัวหายไป แสงสว่างบังเกิดขึ้น มีดวงธรรมผุดขึ้นมา
อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
และก็จะเห็นกายในกาย
เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมไปตามลำดับ มีอยู่แล้วในตัวนั่นแหละ
กายในกายก็ตั้งแต่
กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายโสดาบัน กายสกิทาคามี
กายอนาคามี กายอรหัต ทั้งหยาบละเอียด รวมทั้งกายหยาบก็เป็น
๑๘ กาย ซ้อนๆ กันอยู่ภายใน แต่ละกายก็มีเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
สิ่งที่เราจะต้องทำมีเพียงประการเดียว คือประคองใจให้หยุดนิ่งๆ ด้วยวิธีการที่ได้แนะนำไปแล้วนั่นแหละ
อย่างสบายๆ ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
สำหรับผู้ที่ทำได้ในระดับหนึ่งแล้ว
ต้องจำคำนี้เอาไว้ว่า
หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งเป็นพระอรหัต
ทำหยุดกับนิ่งอย่างเดียว ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ เดี๋ยวใจก็จะละเอียดลุ่มลึกไปตามลำดับ
ประณีตขึ้น นุ่มนวลขึ้น นิ่งขึ้น นิ่งแน่นขึ้น นุ่มนวล ฟ่องเบา ควรแก่การงาน ที่เราจะน้อมไป
ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
หยุดกับนิ่งอย่างเดียว
เดี๋ยวแสงสว่างก็จะเกิด ให้เราเห็นภาพ และเราก็ดูภาพไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ เหมือนดูทิวทัศน์
โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น นิ่งอย่างเดียว สบายๆ ประคองใจไปอย่างนี้ แค่นี้เท่านั้นนะจ๊ะ
ดูเฉยๆ
คือการหยุดใจ
มีอะไรให้ดูเราก็ดูไป ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ นิมิตหรือภาพภายใน จะเป็นภาพอะไรก็น่าดูทั้งสิ้น
ไม่ชัดก็น่าดู ชัดปานกลางก็น่าดู ชัดมากก็ยิ่งน่าดู ดูโดยปราศจากความคิดปรุงแต่ง ไม่ไปวิเคราะห์
วิจัย วิจารณ์ ประสบการณ์ภายใน หรือภาพที่เราเห็น ซึ่งมักจะไปใช้ความคิดกันว่า เห็นไปเอง
หรือว่าเราคิดขึ้นมา ของจริง หรือเป็นนิมิตเลื่อนลอยอะไรต่างๆ เหล่านั้น
เมื่อใดเราใช้ความคิด
นิมิตที่เราเห็นมันจะเลือนไป ในตอนช่วงนี้มันยังไม่ถึงเวลาที่เราจะไปวิเคราะห์ วิจัย
วิจารณ์ ประสบการณ์ ให้ทำตัวเหมือนนักเรียนอนุบาล ศึกษาไปอย่างอินโนเซ้นท์ มีอะไรให้ดู
เราก็ดูอย่างนั้นไปก่อน
การดูเฉยๆ คือ การหยุดใจนั่นเอง ใจมันก็จะหยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งกันไปเอง
ภาพมันก็จะเปลี่ยนแปลงไป จากไม่ชัดก็ชัดขึ้น ชัดมาก แล้วก็ชัดเท่าลืมตาเห็น กระทั่งมากกว่าลืมตาเห็น
จากความสงสัยว่าใช่หรือไม่ใช่ พอเราดูไปเรื่อยๆ ความรู้สึกสงสัยก็จะค่อยๆ หมดไป หมดไปเรื่อย
ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งหมดไปโดยสิ้นเชิง อย่างสมบูรณ์นั่นแหละ
องค์พระก็เหมือนกัน
ถ้าสมมติบางคนเห็นบางส่วน พอเราดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็นเต็มส่วน จากไม่ชัดก็จะชัดขึ้น
ชัดมาก จากที่เป็นวัสดุต่างๆ ที่เราเคยเห็นด้วยตาเนื้อจะเปลี่ยนแปลงไป สู่ความเป็นรัตนะ
เป็นกระจก เป็นเพชร เป็นพลอย เป็นเพชรใสๆ จากลักษณะองค์พระที่ไม่สวย ไม่สมบูรณ์ พอเราดูไปเรื่อยๆ
ถึงในระดับที่หยุดนิ่งได้สนิท สมบูรณ์ องค์พระก็จะสมบูรณ์เอง จะได้ลักษณะมหาบุรุษ ที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา
แต่จะหายสงสัยเมื่อเราเข้าถึงในตอนที่ใจเราหยุดนิ่งได้สนิทสมบูรณ์นะจ๊ะ
นี่คือ กรณียกิจ หรือ กิจที่ควรทำ สำหรับการเกิดมาเป็นมนุษย์ ในแต่ละภพแต่ละชาติของทุกๆ
คนในโลก ไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้น ยิ่งเฉพาะชาวพุทธก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำ จึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง
เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ดีแล้วต่อจากนี้ไป
ใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ ประคองใจให้หยุดนิ่งๆ เบาๆ อย่างสบายๆ สม่ำเสมอ ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะสมหวังดังใจในสิ่งที่เราได้ตั้งใจปรารถนามาได้ด้วยดีแล้วกันทุกคน
เช้านี้ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
นะจ๊ะ
วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565