สัญญาณแห่งความสำเร็จ
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ให้ลูกทุกคนตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ
พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ
ปรับใจ
และก็ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจของเราให้ว่างๆ
แล้วก็มาสมมติว่า
ภายในร่างกายของเรานั้น ปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น ให้เป็นที่โล่งๆ
ว่างๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง คล้ายลูกโป่งที่เราอัดลมเข้าไป ให้กลวงภายใน คล้ายท่อแก้ว
ท่อเพชรใสๆ
วางใจ
คราวนี้เราก็น้อมใจ
มาหยุดนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า
เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุมาด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง
ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดของเส้นด้ายขึ้นมา
๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่ในกลางท้องของเรา ให้เอาใจที่คิดแวบไปแวบมา
ในเรื่องราวต่างๆ นั้น มาหยุดนิ่งๆ อยู่ที่ตรงนี้
บริกรรมนิมิต
โดยกำหนดบริกรรมนิมิต
เป็นเครื่องหมายที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย
ไม่มีขีด ไม่มีข่วน คล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา หรือเท่าที่เราจะนึกได้ เป็นเพชรสักเม็ดหนึ่งใสๆ
แต่ว่ากลมรอบตัว ไม่ได้เจียระไนเหลี่ยม
ถ้าหากว่า
ไม่เคยนึก ไม่เคยดูว่า แก้วตาโตเท่าไร ก็นึกว่า ขนาดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
หรือดวงดาวในอากาศ อย่างใดอย่างหนึ่ง กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว แล้วก็ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรใสๆ
ที่ต้องแสง
กำหนดเครื่องหมายนี้
ที่เรียกว่า บริกรรมนิมิต เป็นภาพทางใจ
ที่เรานึกอย่างเบาสบาย คล้ายๆ กับเรานึกถึงเรื่องที่เราชอบ ที่เราคุ้นเคย หาเพชรสักเม็ดหนึ่งในกลางท้องของเรา
อยู่ที่ฐานที่ ๗ คือ ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ประมาณตรงนี้ อย่าถึงกับเป็นเครื่องกังวลว่า
มันจะตรงเป๊ะเลยมั้ย ไม่ต้องกังวลขนาดนั้น
ความสำคัญของฐานที่
๗
ฐานที่
๗ ตรงนี้สำคัญ นอกจากเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ และที่ตื่น ยังเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน
เป็นทางสายกลางภายใน โดยมีจุดเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายตรงนี้
เป็นจุดเริ่มต้นของหนทางแห่งพระอริยเจ้า
ที่เรียกว่า อริยมรรค
เป็นเส้นทางสายกลางภายในที่เรียกว่า
มัชฌิมาปฏิปทา
บางทีก็เรียกว่า
วิสุทธิมรรค เป็นต้นทางแห่งความบริสุทธิ์
จากสรรพกิเลสทั้งหลาย จากความโลภ ความโกรธ ความหลง ความไม่รู้จริงอันใดหมดสิ้นไป
หรือบางทีก็เรียกว่า
วิมุตติมรรค ทางแห่งความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
เราจะต้องมาเริ่มต้นหยุดที่ตรงนี้
หยุดใจนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม สบาย ตรึกนึกถึงบริกรรมนิมิต เป็นเพชรใสๆ
สักเม็ดหนึ่ง
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจ
ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ โดยเสียงของคำภาวนา เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
เหมือนมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ภายใน
เราภาวนาในใจเบาๆ
สม่ำเสมอ พร้อมกับตรึกนึกถึงดวงใสๆ เพชรใสๆ ภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆๆ
ทุกครั้งที่นึกถึงบริกรรมนิมิต
ดวงใสๆ เหมือนเพชร ก็จะต้องไม่ลืมภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ ภาวนาเรื่อยไปเลย จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง
เวลาใจหยุดนิ่ง มันก็จะไม่ไปคิดเรื่องอื่น เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ก็จะไม่ไปคิด มันจะนิ่งๆ
เฉยๆ อยู่กับดวงใสๆ เหมือนกับเพชร
พอหยุดนิ่ง
จะทิ้งคำภาวนาไป มีอาการคล้ายๆ กับเราลืมภาวนา หรือไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากจะรักษาใจหยุดใจนิ่ง
ที่กลางดวงใสๆ อย่างนี้อย่างเดียว ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ เกิดความรู้สึกอย่างนี้ และก็ไม่ฟุ้งไปที่อื่น
เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่ ให้รักษาใจ หยุดนิ่งอย่างเดียว
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
หยุดนี่แหละ เป็นตัวสำเร็จ ที่ทำให้เราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
ถึงพุทธรัตนะ
ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่สูงสุดของเรา สิ่งอื่นไม่ใช่ และก็มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก
ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ใด จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ก็มีอยู่ แต่ว่ามนุษย์ไม่ได้เฉลียวใจว่า
มีสิ่งนี้อยู่ภายใน
เพราะฉะนั้น
เริ่มต้นจะต้องหยุดใจให้ได้ก่อน หยุดจะใช้ตลอดเส้นทาง ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
แปลว่า หยุดใจอย่างเดียว ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
สภาวธรรมภายใน
พอถูกส่วน
เดี๋ยวมันจะเห็นขึ้นมาเอง ตัวจะโล่ง โปร่ง เบา สบาย ตัวขยายหายไป แล้วแสงสว่างก็จะเกิด
ทำให้เราเห็นภาพดวงธรรมภายใน เป็นดวงใสๆ ใสเกินใส ใสเหมือนน้ำ เหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าบ้าง
เหมือนเพชรบ้าง หรือยิ่งกว่านั้น จะปรากฏเกิดขึ้นมา
และเราก็จะเห็น
กายในกาย กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายโสดาบัน กายสกิทาคามี
กายอนาคามี กายอรหัต ทุกๆ กายที่มันซ้อนกันอยู่ภายใน เป็นกายภายในที่มีอยู่แล้ว
ไม่ต้องพิจารณาอะไร
เพราะฉะนั้น
ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้หยุดกับนิ่งอย่างเดียว ไม่ต้องไปพิจารณาอะไร พิจารณาใช้ก่อนนั่ง เพื่อให้มันปลด มันปล่อย
มันวางจากเครื่องกังวล จากคน สัตว์ สิ่งของ จากสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารอะไรของชีวิต
พอมันปลดปล่อยวางแล้วก็ไม่ต้องพิจารณาอะไรอีกเลย หยุดนิ่งเฉยๆ
พิจารณา
มีอยู่ ๒ ระดับ
จินตมยปัญญา คือ ระดับใช้ความคิด
ภาวนามยปัญญา คือ การพิจารณาโดยไม่ต้องใช้ความคิด พอจิตสงบ
ความสว่างเกิด จะเห็นไปตามความเป็นจริงว่า
สิ่งใดที่เป็น
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็รู้ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สิ่งใดที่เป็น
นิจจัง สุขัง อัตตา ก็ทั้งรู้ทั้งเห็นว่า เป็น นิจจัง สุขัง อัตตา
แล้วมันก็จะปลดปล่อยวาง
สิ่งที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปเอง
เพื่อที่จะไปเป็นอันหนึ่งอันเดียว
กับ นิจจัง สุขัง อัตตา
ยากตรงหยุดแรก
เพราะฉะนั้น
สำคัญว่า หยุด นี่แหละ ต้องฝึกให้ได้ มันจะยากก็ตอนแรก
เพราะเราไม่คุ้นเคยกับการเอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน เราปล่อยให้มันเตลิดเปิดเปิงไปนึกถึงเรื่องราวต่างๆ
ในคน สัตว์ สิ่งของ ที่เราได้เคยศึกษาเล่าเรียน หรือต้องทำมาหากิน คือ ต้องคุ้นเคย
ถูกความอยากกระตุ้นออกไปให้เราไปติดในสิ่งเหล่านั้น ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
อะไรต่างๆ
มันจะยากตอนแรกนิดหนึ่ง แต่ก็ยากไม่มาก ถ้าหากเรารู้วิธี มันก็ไม่ยาก
ประคองใจ
ดังนั้น
ก็ต้องประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ เรื่อยไปเลย ไม่ต้องทำอะไรนอกเหนือจากนี้
ประคองใจไปเบาๆ
ทีนี้ถ้านึกบริกรรมนิมิตไม่ออก
ก็ไม่ต้องไปนึกมัน นิ่งๆ เฉยๆ แค่ปิดเปลือกตา ให้ขนตาชนกัน ขนตาของเปลือกตาบนกับขนตาของเปลือกตาล่างแค่สัมผัสกัน
และหลังจากนั้นลืมไปเลยว่า เรามีลูกนัยน์ตา นั่งนิ่งๆ นุ่มๆ สบายๆ นึกไม่ออกก็ไม่ต้องไปนึก
ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร วัตถุประสงค์ต้องการหยุดกับนิ่ง
ถ้าหยุดกับนิ่งๆ ได้ เดี๋ยวก็เห็นเอง เพราะทุกสิ่งมีอยู่แล้วภายใน ไม่ว่าจะอารมณ์สบาย
ความสุขที่แท้จริง แสงสว่าง กาย เวทนา จิต ธรรม มีอยู่แล้วในตัวนั่นแหละ แต่ว่าเราจะต้องไปเห็นสิ่งเหล่านั้น
โดยวิธีการหยุดกับนิ่ง
เพราะฉะนั้น
จับหลักให้ได้ว่า หยุดกับนิ่งนี่แหละสำคัญมาก ยิ่งหยุดยิ่งนิ่ง จะยิ่งดิ่งไม่หยุด มันก็จะเคลื่อนที่เร็ว
เข้าไปสู่ภายในเอง ดังนั้นเราก็แค่ทำหยุดกับนิ่ง
สัญญาณแห่งความสำเร็จ
นั่งแล้วต้องให้ได้ความพึงพอใจทุกครั้ง นั่นคือสัญญาณแห่งความสำเร็จในการที่เราจะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
จะมีสัญญาณตรงนี้ว่า นั่งแล้วรู้สึกพึงพอใจ ใจมันสงบ มันสบาย กายก็สงบ ไม่ปวด ไม่เมื่อย
เวลาผ่านไปเร็ว แม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม เราก็ไม่ไปกังวลกับมัน คล้ายๆ
ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร
ใจของใคร
ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ แปลว่า เราเดินทางมาได้ ๙๙ เปอร์เซ็นต์แล้ว จะถึงจุดหมายปลายทาง
คือ ถ้าเรานั่ง นิ่ง นุ่ม สบาย แม้ไม่เห็นอะไร แล้วก็ไม่คาดหวังจะเห็นอะไร เฉยๆ มีความพึงพอใจอย่างนี้
สบาย ไม่ตึงบริเวณกระบอกตา หน้าผาก ทั้งเนื้อ ทั้งตัว นั่นแหละ คือ สัญญาณที่จะประสบความสำเร็จแล้ว
ให้เรานิ่งอย่างนั้นต่อไป
พอเรานิ่งไปนานๆ
เข้า มันจะมีจังหวะหนึ่ง ที่มันเหมือนหลุดพัวะออกไปจากกายหยาบ ก็อย่าไปตกใจมันนะจ๊ะ
เฉยๆ นิ่งๆ นิ่งไปเรื่อยๆ อย่างเดียว ให้ใจเป็นปกติอย่างนี้ เดี๋ยวลูกจะได้ทุกคนนั่นแหละ
ถ้าทำถูกวิธีแล้ว
มันง่าย
มันไม่ได้ยากอย่างที่เราวิตกกังวลกัน ถ้าทำถูกวิธี มันง่าย
วันนี้อากาศเย็นสบาย
ต้นฤดูหนาว ลมหนาวก็เริ่มสร้างบรรยากาศให้เหมาะในการที่จะเข้าถึงธรรม มันเย็นสบาย เหมือนเรานั่งอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ
แต่ว่ามันสดชื่นกว่า เพราะไม่ใช่เป็นห้องทึบๆ มันเย็นโดยธรรมชาติของมัน เหมาะสมที่ลูกทุกคนจะทำความเพียร
ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ซึ่งเป็นกรณียกิจ เป็นงานที่แท้จริงของการมาเกิดเป็นมนุษย์ในแต่ละครั้งในโลกนี้
ถ้าลูกทำถูกวิธีการดังกล่าว
ซึ่งมันไม่ได้ยากอะไร ก็จะสมหวังสมปรารถนาในเช้านี้แหละ นั่ง นิ่ง นุ่ม ละมุนละไม อยากจะภาวนา
สัมมาอะระหัง เราก็ภาวนาไป เมื่อไม่อยากจะภาวนา อยากจะอยู่เฉยๆ เราก็อยู่เฉยๆ
ให้สังเกตว่า เรามีความพึงพอใจในระดับนี้ นั่นแหละถูกวิธีแล้ว แล้วเดี๋ยวความพึงพอใจ
มันก็จะเพิ่มขึ้นของมันไปเอง มันจะมีจังหวะของมัน ที่เรียกว่า ถูกส่วน มันจะถูกไปเอง
ถ้าเรานั่งนิ่ง โดยไม่คาดหวังอะไร นิ่งเฉยๆ เดี๋ยวมันจะวืดเลย
ดูเฉย
ๆ
ส่วนคนที่ทำได้แล้วในระดับหนึ่ง
คือ สามารถวางใจไว้ในกลางตัวได้ อย่างสบายๆ คือ มีความรู้สึกว่า ไม่ยากแล้ว ก็ให้รักษาตรงนี้ต่อไป
บางคนนิมิตเกิดแล้ว
เป็นดวงใส เป็นองค์พระบ้าง เห็นเป็นตัวเองบ้าง ให้นิ่งอย่างเดียวแม้ไม่ชัดเจน อย่าไปกังวล
หรือพยายามเค้นภาพให้มันชัด นิ่งอย่างเดียว เดี๋ยวชัดเอง ถ้าจะไปเค้นภาพให้ชัด มันจะยิ่งจะทำให้จิตมันหยาบ
กายหยาบ นิมิตมันก็จะเลือนหายไป
ต้องนิ่งอย่างเดียวแหละ
นิ่งเฉยๆ มีให้ดู ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็ดู ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ชัดเจน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ดูไป
๒๐ เปอร์เซ็นต์ เหมือนดูทิวทัศน์ เหมือนดูก้อนอิฐก้อนหินอย่างนั้น ดูเฉยๆ เดี๋ยวเราจะเห็นอานิสงส์แห่งการดูเฉยๆ
ภาพมันก็จะชัดขึ้นมาเอง จะชัดขึ้นๆๆ เอง อย่าลืมคำว่า เอง นะลูกนะ สระเอ ออ อ่าง งอ
งู มันจะชัดขึ้นมาเอง เดี๋ยวก็จะสนุกกันใหญ่
เช้านี้ให้ลูกทุกคน
สมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
นะจ๊ะ
วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565