เราต้องหยุดใจ
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ลูกทุกคน ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ
พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ
ปรับใจ
และก็ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจของเราให้ว่างๆ ให้ปลด ให้ปล่อย
ให้วางเครื่องผูกพันต่างๆ ในคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง เป็นต้น
สมมติว่า
ภายในร่างกายของเรานั้น ปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ ไส้ใหญ่ ไส้น้อย
เป็นต้น สมมติให้เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง เป็นที่โล่งๆ ว่างๆ กลวงภายใน คล้ายลูกโป่งที่เราอัดลมเข้าไป
ให้กลวงภายใน เป็นโพรงลงไปนะ
วางใจ
แล้วเราก็น้อมใจของเรา
ที่คิดแวบไปแวบมาไปในเรื่องราวต่างๆ นั้น ในคน สัตว์ สิ่งของ สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
ธุรกิจการงานบ้านช่องอะไรต่างๆ เหล่านั้น ดึงกลับเข้ามาภายในตัว น้อมมาตั้งเอาไว้ มารวมใจหยุดไปนิ่งๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒
นิ้วมือ
โดยสมมติว่า
เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นหนึ่งจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย
ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา
๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหยุดใจ
ใจต้องรวมหยุดตรงนี้ เพราะว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่จะสลัดตนพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย
จะต้องเริ่มต้นเอาใจมาหยุดมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้นะจ๊ะ
สภาวธรรมภายใน
พอถูกส่วนเข้า
เดี๋ยวเราก็จะเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา จะเข้าถึงดวงธรรมภายใน เป็นดวงใสๆ
อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ในยามเที่ยงวัน
ธรรมดวงแรกนี้
เรียกว่า ดวงธัมมานุปัสนาสติปัฎฐาน หรือ ดวงปฐมมรรค เป็นจุดเริ่มต้น ที่เราจะเห็นเส้นทางของพระอริยเจ้าที่เรียกว่า
อริยมรรค อยู่ในกลางดวงธรรมดวงนี้แหละ ดวงใสๆ
เมื่อเราหยุดใจของเราอย่างเดียวอย่างเดิมไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวธรรมดวงนี้ก็จะขยายไป แล้วก็จะเข้าถึงธรรมดวงถัดๆ ไป
เราก็จะเห็นกายในกาย
กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน
กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี และก็กายธรรมพระอรหัต แต่ละกายก็จะมีเป็นคู่
มีหยาบ มีละเอียด นับรวมกันแล้วได้ ๑๘ กาย รวมทั้งกายหยาบที่เราได้อาศัยนั่งเจริญสมาธิภาวนานี้อยู่นะจ๊ะ
กายต่างๆ จะซ้อนกันอยู่ภายใน เป็น ชั้นๆ เข้าไป
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
เพราะฉะนั้น
เริ่มต้นนี้เราก็ต้องหยุดใจของเราอย่างเดียว ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ เพราะ
หยุดเป็นตัวสำเร็จ ที่จะทำให้เราได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
ซึ่งเป็นสิ่งที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ที่มีอยู่แล้วในตัวของพวกเราทุกคน
ของมนุษย์ทุกคนในโลก
พุทธรัตนะ ก็คือ ธรรมกาย เป็นกาย ผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบานแล้ว เกตุดอกบัวตูม ใส บริสุทธิ์ เหมือนน้ำบ้าง เหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าบ้าง
เหมือนเพชรบ้าง ใสเกินใสกว่านั้นบ้าง เกตุดอกบัวตูม ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ
นั่งขัดสมาธิเจริญสมาธิภาวนา นิ่งอยู่ภายใน ไม่ยืน ไม่เดิน ไม่นอน นั่งอย่างเดียว เพราะว่าไม่ได้ทำกิจแบบมนุษย์แล้ว
นั่นแหละ คือ ตัวพุทธรัตนะ
รัตนะ แปลว่า แก้ว พุทธะ
แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ผู้แทงตลอดในธรรมทั้งปวงแล้ว อย่างเล็กก็หย่อนกว่า
๕ วา นิดหน่อยลงมา แล้วก็โตขึ้นไปเรื่อยๆ กระทั่ง ๕ วา ๑๐ วา ๑๕ วา แล้วก็ ๒๐ วา ของกายธรรมอรหัต
หยุดใจอย่างเดียวเท่านั้นจึงจะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในดังกล่าวนี้ได้
บริกรรมนิมิต
เพราะฉะนั้น
ให้ลูกทุกคนฝึกหยุดใจตรงนี้ นิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างนี้อย่างเดียว ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
นิ่งอย่างเดียวเท่านั้นแหละ โดยกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ
พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเราพระมงคลเทพมุนี
(สด จนฺทสโร ) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านให้กำหนดเครื่องหมายที่ใส สะอาด บริสุทธิ์
ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา
ถ้าใครไม่เคยสังเกตแก้วตาของเรา
ก็นึกถึงเพชรสักเม็ดหนึ่งที่ใสๆ แต่ว่ากลมรอบตัว ไม่ได้เจียระไนเหลี่ยม
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ เอามาตั้งไว้ที่ฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่กลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
แต่ในแง่ของการปฏิบัติ
เราก็ไม่ต้องไปกังวลถึงฐานที่ ๗ มากเกินไปว่า บริกรรมนิมิตที่เรากำหนดขึ้นมานั้นจะตรงกับฐานที่
๗ เป๊ะเลยไหม เอาว่าประมาณอยู่ในกลางท้องของเรา ให้ใจตรึกนึกถึงดวงใสดังกล่าว แล้วก็หยุดใจไปที่กลางดวงใสๆ
อย่างสบายๆ
ตรึก ก็คือ นึกเบาๆ สบายๆ คล้ายๆ กับที่เรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย
นึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น นึกไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะวัตถุประสงค์ ต้องการให้ใจมาอยู่ที่กลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
เพราะฉะนั้น
ก็นึกกำหนดเป็นภาพทางใจ นึกถึงเพชรสักเม็ดหนึ่งใสๆ กลมรอบตัว ใสเย็นเหมือนแสงจันทร์
สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน นึกไปเรื่อยๆ ให้ต่อเนื่องไปอย่างสบายๆ แต่ไม่ใช่เป็นการเพ่ง
จ้อง ให้นึกสบายๆ เหมือนเรานึกถึงมหาธรรมกายเจดีย์ นึกถึงมหาวิหารหลวงปู่เราก็ยังนึกได้
แต่ว่ามันไม่ชัดเจนมากเหมือนเราลืมตาเห็น บริกรรมนิมิตก็นึกอย่างนี้แหละ นึกสบายๆ
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งๆ
ด้วยบริกรรมภาวนาในใจ เบาๆ โดยให้เสียงคำภาวนา เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากในกลางท้องของเรานะจ๊ะ
เหมือนมาจากแหล่งแห่งพลังบริสุทธิ์ ที่อยู่ในอายตนนิพพานนั้น มาจากที่ไกลๆ มากลั่นใจเราให้ใสๆ
ให้บริกรรมภาวนาว่า
สัมมาอะระหังๆๆ ภาวนากี่ครั้งก็ได้ แต่ว่าทุกครั้งจะต้องไม่ลืมนึกถึงเพชรเม็ดนั้นนะ
ดวงใสๆ เหมือนเพชรนั่นแหละ ที่อยู่ในกลางท้องของเรา ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
กี่ครั้งก็ได้ จนกว่าใจจะหยุดจะนิ่ง จนเกิดความรู้สึกว่า เราไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง
ต่อไป อยากจะหยุดใจนิ่งเฉยๆ เอาไว้ที่กลางท้อง อยากจะนึกถึงเพชรเม็ดนั้นอย่างสบายๆ
โดยไม่อยากจะภาวนาอีกต่อไปเลย ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่
ให้รักษาใจหยุดนิ่งเรื่อยไปอย่างสบายๆ ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
แต่สมมติว่า
เรากำหนดเพชรเม็ดนี้ แต่เกิดไปเห็นเป็นอย่างอื่น เป็นองค์พระบ้าง เป็นคน เป็นสัตว์
เป็นสิ่งของ จะเป็นอะไรก็ตาม ให้มองไปเฉยๆ อย่างสบายๆ นะ ทุกภาพที่ปรากฏในกลางท้องของเรา
ล้วนเป็นสิ่งที่ควรมอง ควรดู มันจะสดใสเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นภาพอะไร แต่ถ้ามองด้วยใจที่ปราศจากความคิดปรุงแต่ง
ให้ดูไปเฉยๆ เหมือนเราดูทิวทัศน์ข้างทาง เวลาเรานั่งอยู่ในรถนั่นแหละ ดูไปธรรมดา สบาย
โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น แล้วภาพเหล่านั้น มันก็จะเปลี่ยนของมันไปเอง จนกระทั่งไปสู่ภาพที่เราต้องการในที่สุด
และภาพที่เกินกว่าที่เราจะจินตนาการไปถึง
เพราะฉะนั้น
ให้ทำอย่างนี้นะลูกนะ ทำอย่างสบายๆ คำภาวนา สัมมาอะระหัง เราจะย้อนกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อใจเราฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าใจไม่ฟุ้ง ก็ให้หยุดนิ่งเฉยๆ เบาๆ สบายๆ ทำใจให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น แม้ว่าจะยังไม่มีภาพอะไรให้มาปรากฏ มีเพียงความมืดก็ตาม เราก็จะต้องหยุดกับนิ่งเฉยๆ
อย่างนั้น เรื่อยไปเลย
หยุดนิ่งเฉยไปเรื่อยๆ
การหยุดนิ่งเฉยๆ
อย่างนี้แหละ จะทำให้ใจค่อยๆ ละเอียดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน จากตัวทึบๆ
มันก็จะโล่ง จะโปร่ง จากตัวหนักๆ มันก็จะเบา สบาย แล้วก็เกิดความพึงพอใจ อยากจะอยู่กับอารมณ์นี้ไปนานๆ
กับความรู้สึกนี้ไปนานๆ แม้จะยังไม่เห็นอะไรก็ตาม อยากอยู่กับความรู้สึกอย่างนี้
เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ให้รักษาความรู้สึกอย่างนี้ตลอดไป
ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเห็นภาพ แล้วก็อย่าไปควานหาภาพในที่มืด
ให้นิ่งเฉยๆ อย่างนั้นแหละ หยุดนิ่งนุ่มเบาๆ สบายๆ ไม่ช้าเดี๋ยวเราก็จะเห็นเอง เพราะว่าทุกสิ่งมีอยู่แล้วภายในตัว
แต่เป็นของละเอียด เราจะเห็นได้ต่อเมื่อ ใจเราละเอียดเท่ากับสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของเราเท่านั้น
หน้าที่ของเรา คือ หยุดใจนิ่งเฉยๆ เพื่อใจจะได้ปรับสภาวะจากหยาบ
ไปสู่สภาวะที่ละเอียด ด้วยวิธีการดังกล่าวนั้น
เพราะฉะนั้น
ต่อจากนี้ไปเวลาที่เหลืออยู่ ให้ลูกทุกคนประคองใจ ให้หยุดนิ่ง โดยการนึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นเพชรเม็ดใสๆ
ดังกล่าว พร้อมกับประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ เรื่อยไปเลย เช้านี้ให้ลูกทุกคน
สมหวังดังใจ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
นะจ๊ะ
วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565