ปล่อยวางหลายระดับ
วันอาทิตย์ที่
๑๑ มีนาคม พ.ศ.
๒๕๕๐ (๑๓.๓๐ -
๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย-ปรับใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ
หลับตาเบาๆ พอ สบายๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเรา ตั้งแต่ใบหน้า
ศีรษะ ลำคอ ลำตัว ไปถึงปลายนิ้วเท้าเลย ให้ผ่อนคลายให้หมด
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์
เป็นสิ่งของ ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ปล่อยวางให้หมดเลย เพราะคน สัตว์ สิ่งของนี้ เราจะอาศัยกันเพียงแค่ชั่วคราว
ไม่ช้าก็ต้องพลัดพรากจากกันไป
ปล่อยวาง..ระดับหยาบ
เรามาอยู่ในโลกนี้แค่ประเดี๋ยวประด๋าว
เดี๋ยวก็หมดเวลาของชีวิตแล้ว เพราะฉะนั้นต้องคลายความผูกพัน ความยึดมั่นถือมั่น
ในสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวเราหรือของๆ เรา ใจเราจะได้ปลอดโปร่ง สบาย เหมาะสมที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
เพราะถ้าไม่ปล่อยวาง ไม่คลายความผูกพันก็จะหยุดนิ่งไม่ได้
จะเข้าถึงพระรัตนตรัยไม่ได้
เมื่อเรานั่งเรือมาจะขึ้นฝั่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรือแจว เรือจ้าง หรือเรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องโดดลงจากเรือถึงจะขึ้นฝั่งได้
คือเป็นแค่เครื่องอาศัยส่งให้เราถึงฝั่งเท่านั้น
สรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย แม้แต่กายเนื้อของเราก็เป็นแค่อุปกรณ์ในการที่จะใช้ฝึกฝนพัฒนาตัวของเราให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
เพราะฉะนั้น
ปลดปล่อยวาง ใจจะได้ปลอดโปร่ง สบาย พอใจสบาย ก็เป็นต้นทางของการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
เพราะใจมีความพร้อมที่จะหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้ และพร้อมที่จะเดินทางเข้าไปสู่ภายใน
ไปสู่จุดหมายปลายทาง
ปล่อยวาง..ระดับลึก
จะต้องปล่อยหลุดปล่อยพ้นกันไปในหลายๆ
ระดับทีเดียว ตั้งแต่ปล่อยเรื่องราวหยาบๆ ข้างนอก และเข้าไปหยุดนิ่งอยู่ภายใน ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ พอถูกส่วนก็จะปล่อยกายหยาบ จะตกศูนย์เข้าไปสู่ข้างใน เข้าถึงดวงธรรมภายใน ถึงดวงปฐมมรรค
พอใจหยุดอยู่ในกลางปฐมมรรค ก็จะคลายความผูกพัน
จะหลุดไปเป็นชั้นๆ เข้าไป
เข้าถึงดวงศีล
พอใจหยุดอยู่ในกลางดวงศีล ก็จะเข้าถึงดวงสมาธิ
พอใจหยุดในกลางดวงสมาธิ
ถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงปัญญา
พอใจหยุดอยู่ในกลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้า ก็จะเข้าถึงดวงวิมุตติ
พอใจหยุดอยู่ในกลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า ก็จะเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
พอใจหยุดอยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดภายใน
ก็จะเป็นชั้นๆ ไปอย่างนี้ จะปล่อยหลุดปล่อยพ้นเข้าไปเรื่อยๆ ด้วยหยุดกับนิ่งนี่แหละ
พอศึกษาเรียนรู้ในกายมนุษย์ละเอียดได้ทั่วถึง
ก็จะคลายความผูกพัน ใจก็จะหยุดนิ่งอยู่ภายในกลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียด แล้วก็จะหลุดไปเป็นชั้นๆๆๆ
ล่อนไปอย่างนั้นแหละ เหมือนมะขามกับเปลือกมันไม่ติดกัน เงาะกับเปลือกมันล่อน กายในกายก็เหมือนกันก็จะเป็นชั้นๆ
อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม
กายธรรมโคตรภู เกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์ ใสเกินความใสใดๆ ในโลก ที่เราเคยเห็น
เนียนตา ละมุนใจ ทั้งใส ทั้งสว่าง สว่างไปรอบทิศเลย พอใจหยุดในกลางกายธรรม ก็จะหลุดล่อนเข้าไปเรื่อยๆ
เห็นกายธรรมในกายธรรม เป็นชั้นๆๆ เข้าไป ใส บริสุทธิ์ เราจะมีความรู้สึกว่า ใจเราบริสุทธิ์เกลี้ยงเกลา
ความบริสุทธิ์ของใจจะรู้ได้เมื่อหยุดนิ่ง แล้วถอดออกเป็นชั้นๆ
นี่แหละ จะเกลี้ยงเกลา แล้วก็จะรู้ถึงอานิสงส์ของความบริสุทธิ์ของใจว่า จะให้ความสุขอย่างไม่มีประมาณทีเดียว
ความสุขความเห็นแจ้งที่เรียกว่า วิปัสสนา เห็นแจ้งแล้วก็ความรู้แจ้ง
เกิดขึ้นภายใน แล้วก็ได้กำลังใจที่จะทำความดีไปเรื่อยๆ รวมทั้งมหากรุณาที่มีความรักและปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์สรรพสัตว์ทั้งหลาย
ก็จะเข้าไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละ เป็นชั้นๆๆ เข้าไป
พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระมหาเถระทั้งหลาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านค้นพบตรงนี้
แต่ความรู้ตรงนี้ก็ค่อยๆ กระจัดกระจายกันไป จนหาแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงอย่างนี้ได้ยาก
ยากในแง่การปฏิบัติ กระทั่งมีการบังเกิดขึ้นของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี
(สด จนฺทสโร) จึงได้ค้นพบวิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับคืนมาใหม่ เรียกว่า ทางมรรคผลนิพพาน กลับคืนมา ทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น
หยุดกับนิ่งสำคัญมาก หยุดอยู่ภายในนั่นแหละ คือวัตถุประสงค์ของชีวิต ส่วนการทำมาหากินแค่เป็นเครื่องอาศัยให้ได้ปัจจัย
๔ มาหล่อเลี้ยงสังขาร แล้วก็สร้างบารมี จริงๆ มีอยู่แค่นั้น แต่ว่าถ้าไม่มีความรู้เรื่องวัตถุประสงค์ของชีวิต
เป้าหมายชีวิต ก็จะเพลินกับการแสวงหาโลกีย์ทรัพย์อย่างเดียว มัวเพลินอยู่ตรงนั้น
ในการแสวงหาโลกีย์ทรัพย์บางคนก็ง่าย
บางคนก็ยาก แต่ถึงง่ายอย่างไรก็มีเครื่องกังวล มีปัญหา มีแรงกดดัน ก็คอยแก้ไขปัญหากันไป
และเมื่อประสบความสำเร็จ ก็จะปลื้มใจนิดหน่อย และก็แสวงหากันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดกระทั่งหมดเวลาของชีวิต
และก็ไม่ได้พบสิ่งที่ต้องแสวงหาอย่างแท้จริง
กว่าจะมีความรู้ตรงนี้
ก็ต่อเมื่อมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านค้นพบเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
วัตถุประสงค์ของชีวิต วิธีการดำเนินชีวิต
เมื่อท่านสอนตัวเองได้ แล้วก็นำมาถ่ายทอดแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
ให้ดำเนินรอยตาม มีข้อปฏิบัติที่ไม่มีอยู่ในคำสอนอื่น ทำให้เราดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง
ชีวิตเป็นทุกข์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านบอกวัตถุประสงค์ของชีวิต
บอกตั้งแต่เริ่มต้นว่า ชีวิตพื้นฐานจริงๆ เป็นทุกข์
และท่านก็อธิบายว่า ทุกข์มีอะไรบ้าง แต่บางทีเราอยู่กับมันจนกระทั่งชินชา เราก็เลยเข้าใจเอาเองว่า
ก็คงจะเป็นอย่างนี้มั๊งชีวิต เมื่อไม่มีทางหลีกพ้นก็จะต้องอยู่ชินชากันไป
คือ ก็ต้องทนทุกข์ทรมานกันไป เพราะไม่รู้จะหลีกเลี่ยงอย่างไร ก็ทนจนชิน แต่ถึงชินยังไงก็ทน
แต่พระองค์ทรงชี้ว่า ชีวิตพื้นฐานเป็นทุกข์ ต้องมาหยุดคิดตรงนี้กันเสียก่อน
มาพิจารณาทุกข์เพราะอะไร เกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์
ทุกข์เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
เป็นต้น
พอชี้พื้นฐานเรื่องความทุกข์แล้ว ท่านก็บอกถึงต้นตอสาเหตุของความทุกข์ว่า จริงๆ แล้วเริ่มต้นมาจากความอยาก ความทะยานอยากที่ไม่ได้ประกอบไปด้วยปัญญา
ถ้าประกอบไปด้วยปัญญา เช่น อยากไปนิพพาน อยากพ้นทุกข์ นี่คือความอยากที่ประกอบไปด้วยปัญญา
แต่ความอยากที่ประกอบไปด้วยความเพลิน
ความไม่รู้ เรียกว่า นันทิราคสหคตา ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากได้
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อยากมี คน สัตว์ สิ่งของ ยศถาบรรดาศักดิ์ อยากเป็นตำแหน่งนั้น
ตำแหน่งนี้ เป็นต้น อยากอย่างนั้นต้องแสวงหา แต่การแสวงหาไม่ใช่ง่าย มีปัญหา
มีแรงกดดันสารพัด ก็ต้องแก้ปัญหากันไป
แต่ถ้าไม่รู้วิธีแก้ปัญหา
ก็จะแก้ด้วยวิธีการสร้างปัญหาใหม่ แก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหา และก็มีปัญหากันต่อไป
ท่านก็ชี้ให้เห็นว่า ทุกข์มาจากความอยากที่ไม่ได้ประกอบไปด้วยปัญญา แต่ประกอบไปด้วยความเพลิน
ความไม่เข้าใจเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์
ทีนี้ถ้าอยากพ้นทุกข์
ก็ต้องหยุดความอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น อะไรต่างๆ เหล่านั้น ต้องมานิ่งๆ อยู่ภายใน หยุดความทะยานอยากไว้ก่อน
ที่เรียกว่า นิโรธะ
หยุดยับยั้งมันก่อน แล้วก็มาใช้ดวงปัญญา คิดถึงวิถีทางที่จะพ้นทุกข์
ซึ่งมีวิธีเดียว เป็นวิถีชีวิตวิถีทางของพระอริยเจ้า เรียกว่า อริยมรรค มีองค์ ๘
ทางพ้นทุกข์ต้องปฏิบัติ
อริยมรรค มีองค์ ๘
โดยเริ่มต้น
จัดกระบวนความเห็นก่อน ต้องมี ความเห็นที่ถูกต้อง
โดยเอาท่านผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
ผู้หมดกิเลสแล้วเป็นต้นแบบ ท่านมีความเห็นถูกอย่างไร
เราทำตามนั้น เช่น เชื่อเรื่องการเวียนวายตายเกิด
เรื่องภพนี้ภพหน้า บิดามารดามีคุณ ผลแห่งทานมี อย่างนี้เป็นต้น
ต้องมีความเห็นให้ถูกเสียก่อน แล้วถึงจะเป็นต้นทางที่จะทำให้ คิดถูกต้อง คือ ความคิดที่จะออกจากสิ่งที่เคยพัวพันผูกพันในเรื่องกาม
เรื่องทรัพย์ เรื่องกามสุข เรื่องที่แสวงหา เราออกจากความพยาบาท ระหว่างแสวงหาก็ไม่ได้ดังใจ
มีคนขัดอกขัดใจ มีความโกรธ มีความพยาบาท แล้วความคิดที่จะเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น
ต้องออกจากตรงนั้นก่อน อย่างนี้ถึงเรียกว่า คิดถูกต้องแบบพระอริยเจ้า
เมื่อคิดถูกก็ต้องมา
พูดถูก อย่างไรถึงจะเรียกว่า พูดถูก
แล้วถึงจะ ทำถูก อย่างไรเรียกว่า ทำถูก
และเมื่อชีวิตยังต้องมีปัจจัยมาเลี้ยงสังขาร
ต้องทำมาหากิน ก็ต้องรู้ อาชีพที่ถูก สัมมาอาชีวะเป็นอย่างไร
แล้วก็ มีความเพียรถูก วิธีการทำความเพียรพยายาม สิ่งไรที่ควรจะมีความเพียรเพื่อให้คุ้มค่า เช่น
เพียรระวังบาปอกุศลไม่ให้เกิด เพียรละบาปอกุศล เป็นต้น ไม่ใช่เพียรกันไปทุกเรื่อง เช่น
เพียรเล่นไพ่ เล่นการพนัน นั่งกันทั้งคืนอย่างนั้น
แล้วก็ ตั้งสติถูก ควรจะตั้งสติไว้ที่ไหน
กระทั่งวิธีการทำสมาธิ
ที่เป็น สัมมาสมาธิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย
ก็ให้ดำเนินตามนั้น นั่นแหละคือวิถีทางของพระอริยเจ้า เรียกว่า อริยมรรค มีองค์
๘
สรุปรวมก็คือ
ฝึกใจให้หยุดนิ่งนั่นแหละ ถ้าใจหยุดนิ่งถูกส่วน มรรคหรือหนทางที่จะดำเนินไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า
หรือหนทางที่จะไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ ก็จะมาเกิดขึ้นที่กลางกาย เป็นดวงใสๆ
เรียกว่า ปฐมมรรค ต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
แค่ต้นทางก็มีความสุขแล้ว
สุขที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลย เพราะไม่ได้อยู่ที่คน สัตว์ สิ่งของ แต่อยู่ที่ปฐมมรรคในตัว
แล้วก็หยุดเข้าไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงบรมสุข คือ นิพพาน ถอดออกเป็นชั้นๆ ดังที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น
ความยากอยู่ที่ไม่ให้โอกาสตัวเองในการทำความเพียรฝึกใจให้หยุด ให้นิ่ง หรือให้โอกาสแล้วก็ยังทำไม่ถูกหลักวิชชา
ถ้ามีความเพียร ทำถูกหลักวิชาก็ต้องเข้าถึงกันได้ทุกคน เพราะมรรคผลนิพพานอยู่ในตัว
แปลว่า เราเคลื่อนย้ายไปตรงไหน
มรรคผลนิพพานก็อยู่ตรงนั้น เราเคลื่อนย้ายตัวอยู่ในห้องนอน
มรรคผลนิพพานก็อยู่ในห้องนอน เคลื่อนย้ายตัวเรามาในห้องน้ำ มรรคผลนิพพานก็อยู่ในห้องน้ำ
เคลื่อนย้ายตัวเราไปที่ครัว มรรคผลนิพพานก็อยู่ในห้องครัว เคลื่อนย้ายตัวเราไปห้องรับแขกก็อยู่ที่ห้องรับแขก
เคลื่อนย้ายเราออกนอกบ้านไปขึ้นรถก็อยู่ในรถ ลงจากรถก็ตามเราไปด้วยทุกหนทุกแห่ง
แปลว่า มรรคผลนิพพานอยู่กับตัวของเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน แม้ไปอยู่โรงพยาบาล มรรคผลนิพพานก็อยู่ตรงนั้นแหละ
อยู่บนเตียงคนป่วยที่เรานอนป่วยอยู่ อยู่ในตัว ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ
เราเป็นหนี้บุญคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระมหาเถรานุเถระที่รักษาพระพุทธศาสนาสืบต่อมากระทั่งมาถึงมหาปูชนียาจารย์ มีพระเดชพระคุณหลวงปู่ของเราเป็นต้น ที่ท่านมาบอกวิธีการที่จะให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานภายในว่า
ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึง ตั้งแต่อยู่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร เริ่มต้นที่ตรงไหน เหล่านั้นเป็นต้น
นี่เราเป็นหนี้บุญคุณท่าน เหลือแต่ตัวเราให้โอกาสตัวของเราทำความเพียรอย่างถูกหลักวิชชา
คือ หยุดกับนิ่งนี่แหละ
ให้โอกาสตัวเองฝึกหยุดนิ่ง
ทุกวันลูกทุกคนก็ต้องหมั่นฝึกใจให้หยุด
ให้นิ่งๆ อย่าให้มีอะไรมาเป็นข้ออ้าง ทำให้เราพลาดโอกาสที่ดีไปเป็นวิกฤติของชีวิต
ฝึกบ่อยๆ
ใจก็จะคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ สิ่งที่เคยยาก มันก็จะกลายเป็นยากไม่มาก มันยากพอสู้
พอสู้แล้วมันก็ไม่ยาก แล้วจากไม่ยากก็มาง่าย เพียงแค่เราหลับตาเบาๆ ผ่อนคลายสบาย
ใจคุ้นกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่แล้ว ก็รวมลงได้ง่าย รวมลงไป
ใจตกศูนย์
แล้วความหวาดเสียวมีอยู่ครั้งเดียวตอนใจตกศูนย์เท่านั้น
เพราะเราไม่คุ้นเคยกับการหลุดพ้นจากกายหยาบ เปลี่ยนมิติใหม่จากหยาบไปสู่ละเอียด จะหวาดเสียวนิดหนึ่ง
แต่บางคนที่มีบุญมากก็จะเคลื่อนลงไปอย่างนุ่มนวล ไม่ วืด ว๊าด วูบวาบ แปลว่า ทุกคนต้องตกศูนย์จึงจะเห็น
เราหนีไม่พ้น
อาการหวาดเสียวอย่างนี้
ก็มีบางคนเท่านั้นที่ลงไปอย่างนุ่มนวล เพราะเขาสั่งสมมามาก ก็จะไปอย่างน้ำไหลรินค่อยๆ
เคลื่อนลงไปเหมือนขนนก ที่ถูกลมพัดปลิวไปในอากาศแล้วก็ค่อยๆ ร่อนตกลงมากระทบผิวน้ำอย่างแผ่วเบา
โดยน้ำไม่กระเพื่อมก็มีจำนวนหนึ่ง คือ ดวงธรรม พรึบเกิดขึ้นมาเลย หรือกายต่างๆ
กระทั่งองค์พระผุดเกิด แต่ก็ต้องตกศูนย์อยู่ดี แต่ไปอย่างนุ่มเนียน ไม่วูบวาบ
ความสุขที่แท้จริงอยู่ในตัว
ทีนี้ที่วูบวาบ
เราก็เฉยๆ กับมันนะ เมื่อหนีไม่พ้น ผ่านอาการหวาดเสียว เพราะเราไม่คุ้นเคยกับประสบการณ์ภายในครั้งเดียว
ก็จะเข้าถึงสุขที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพยานในคำสอนของพระบรมศาสดาว่า นัตถิ สันติปรัง สุขขัง สุขอื่นนอกจากใจหยุด ใจนิ่ง ไม่มี
วูบขึ้นไปแล้วก็เป็นดวงลอยขึ้นมา
โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ก็มี เล็กขนาดดวงดาวในอากาศก็มี ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญบ้าง
พระอาทิตย์ยามเที่ยงวันบ้างหรือโตกว่านั้น ก็แล้วแต่กำลังบารมีของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน และหลังจากนั้นจะดึงดูดใจ เร้าใจ
ให้เราอยากจะเรียนรู้เพิ่มขึ้น มีแต่สุขอย่างเดียว ที่เสียวไม่มีแล้ว
คราวนี้เราเอาใจอยู่กับเนื้อกับตัว
อยู่กับดวงธรรมใสๆ กายภายในองค์พระภายในใสๆ ก็มีความสุขสดชื่นอยู่ตลอดเวลา หลับตา
ลืมตา นั่ง นอน ยืน เดิน ก็จะเห็นดวงธรรมใสๆ บ้าง องค์พระใสๆ บ้าง ด้วยกายภายในอะไรต่างๆ
เหล่านั้น
เป็นชีวิตที่มีความสุข
แม้อยู่ตามลำพังก็ไม่เหงา มีความสุข แต่คนที่เข้าไม่ถึงตรงนี้ แม้อยู่ในหมู่คนเยอะๆ
ก็ยังมีความทุกข์ แม้สิ่งแวดล้อมจะเจอแต่คนดีๆ ก็ยังมีความห่วง ความกังวล ความหวงอะไรต่างๆ
สารพัด
แต่ถ้าอยู่กับตัวเองอย่างนี้
ดวงใสๆ กายในกายใสๆ องค์พระใสๆ อยู่ตรงไหนก็อยู่ได้สบาย จะอยู่ในป่า เขา ห้วย หนอง
คลอง บึงก็ได้ ในเมืองก็ได้ ในป่าคอนกรีตก็ได้ จะมีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ สันโดษ กินอยู่แต่พอดี
จะมีความสุขที่ยิ่งใหญ่ ที่ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ไม่ได้ ความเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกก็ไม่ได้ความรู้สึกอย่างนี้
ไม่ว่าจะพรั่งพร้อมไปด้วยพวกพ้องบริวาร ทรัพย์ศฤงคารแค่ไหน ก็ไม่ได้ความสุขอย่างนี้
ไม่รู้จักด้วยซ้ำไป
เป็นแบบนี้ได้
จะอยู่ตรงไหนก็ได้ นั่ง นอน ยืน เดิน ตามลำพังก็ได้ ไม่มีความรู้สึกว่ายากจนเลย ไม่มีความน้อยเนื้อต่ำใจ
ไม่มีความรู้สึกว่าขัดสน เพราะว่าใจมันอิ่ม มันเต็ม มีความสุข
เนื่องจากชีวิตทางโลกที่เขาแสวงหาทรัพย์
เขาก็ต้องการเจอความสุข แต่เขาไม่เจอ เขาไม่รู้จัก เพราะมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น
แต่เราแม้ไม่มีทรัพย์ภายนอก
ไม่มีโลกีย์ทรัพย์ แต่เราได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง คือ ที่สุดแห่งความปรารถนาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ความสุขเราได้พบแล้ว เมื่อมันอยู่ในตัว
นั่ง นอน ยืน เดิน ตรงไหน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด กลับหน้า เหลียวหลังก็มีความสุข
เพราะฉะนั้น
ทรัพย์ภายนอกก็มีความสำคัญในระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับเป็นเครื่องทำให้เกิดความทุกข์ทรมานของชีวิต
มีความสุขแค่อาสนะเดียว ที่นั่งเดียว ไม่ได้คำนึงถึงที่กว้างหรือที่แคบ แต่ว่ามีสุขอยู่ภายใน และก็ไม่อึดอัด ไม่คับแคบ ใจจะขยายออกไป จะกว้างขวาง เป็นอิสรภาพ รู้สึกใจเป็นอิสระอย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่แค่เป็นเพียงคำพูด
แต่ว่าเป็นคุณสมบัติของความเป็นอิสระจริงๆ
เข้าถึงคำว่า เป็นอิสรภาพ ใจจะใส
จะสว่าง อยู่ตรงกลางกาย และสิ่งที่ปรารถนามีเพียงสิ่งเดียว คือ หยุดกับนิ่ง และอยากจะเรียนรู้ความรู้ภายใน
ดังนั้น อาหารแต่ละมื้อจึงมีเพียงเท่าที่จำเป็น
ไม่มีส่วนเกิน เพราะว่าไม่ได้รับประทานเพื่อความทะยานอยาก มันจะพอดีๆ เสื้อผ้าก็เอาแค่ปกปิดร่างกายให้พ้นจากความละอาย
ดิน อากาศ ฟ้า เหลือบ แมลงอะไรต่างๆ เป็นต้น ไม่ได้คำนึงถึงแฟชั่น ต้องการแค่นั้น
ถ้ามาถึง ณ
ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยก็เอาพอกันแดด กันลม กันฝน ให้สะอาด เป็นที่รื่นรมย์ เจ็บไข้ได้ป่วยก็มีดวงปัญญา
รู้ว่าสังขารร่างกายเวลาเป็นโรคก็เป็นอย่างนี้ ก็รักษาพยาบาลกันไป มียาเท่าที่มีความจำเป็น นอกนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต
เมื่อจิตหยุดนิ่งอย่างนี้
เป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรมกายภายใน พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ความปรารถนาของผู้ที่เข้าถึงธรรมกายเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น
มุ่งสู่ความเป็นอิสรภาพที่สมบูรณ์ คือ พ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร และมุ่งเข้าไปสู่ภายใน
ไปสู่จุดหมายปลายทางที่สุดแห่งธรรมอย่างเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อความสุข เพื่อความรู้ยิ่ง
เพื่อความรู้พร้อม เพื่อความพ้นทุกข์ จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
จะมุ่งเพื่อความอยากรู้ยิ่ง
คือ อยากรู้ยิ่งๆ ขึ้นไปในเรื่องราวต่างๆ เยอะแยะ ซึ่งมนุษย์ที่หยุดนิ่งไม่ได้ มีขอบเขตจำกัด
เห็นรู้ได้เท่าที่ตาเห็น และดวงตามนุษย์ก็มีข้อจำกัด แต่ธรรมจักษุไม่มีข้อจำกัด ก็อยากรู้ยิ่งกว่านี้เข้าไปอีกเรื่อยๆ ภพภูมิต่างๆ
ความเป็นอยู่ของชีวิตใหม่หลังจากตายแล้วเป็นอย่างไร อยู่ในภพภูมิอย่างไร มีสังคมอย่างไร
ดำเนินชีวิตกันอย่างไร และมียิ่งกว่านี้ไหม เหมือนอยากรู้ยิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ
และเป็นความรู้ที่พร้อม ที่ทำให้แจ่มแจ้ง เข้าใจ ไม่ใช่รู้แล้วไม่เข้าใจ จะรู้พร้อมหมดเลย
ความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ จะรู้จะเห็นไปเรื่อยๆ
ความเห็นก็ขยายขอบเขตกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ จากเท่าตัวเรา ก็ใหญ่เท่าตัวเรา ใหญ่กว่าสภาธรรมกายสากล
ใหญ่ครอบคลุมอำเภอคลองหลวง ครอบคลุมจังหวัดปทุมธานี ครอบคลุมประเทศ นานาชาติ ทั่วโลก
หลุดไปยังภพภูมิต่างๆ กามภพ รูปภพ อรูปภพ แล้วขยายไปโน้น นิพพาน ภพ ๓ โลกันตร์
ไปเรื่อยๆ เลย คราวนี้ก็มีสิ่งที่น่าบันเทิงใจอีกเยอะแยะ
เพราะฉะนั้น สิ่งภายนอกก็ไม่ค่อยผูกพันเท่าไร
บ้านเรือนก็รู้ว่า นี่ไม่ใช่บ้านแท้จริงของเรา มาอาศัยชั่วคราว ก็เอาแค่พอมี
พออยู่ พอใช้ได้ บ้านที่แท้จริงอยู่ภายในตัว และยิ่งเรามีมโนปณิธานที่จะพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร
บ้านที่แท้จริงก็ที่สุดแห่งธรรม ที่พักกลางทาง
คือ ดุสิตบุรี วงบุญพิเศษ เขตบรมโพธิสัตว์
เพราะฉะนั้น
หยุดนิ่งสำคัญนะลูก ต้องฝึกกัน ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เวลาที่เหลืออยู่นี้ ก็ฝึกหยุดนิ่งกันไป
จนกว่าจะถึงเวลาอันควรกัน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565