ชีวิตเกิดมาเพื่อการเข้าถึงธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.
งานบุญวันอาทิตย์ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆคนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ
อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาพอสบายๆ ไม่ถึงกับปิดสนิทแน่นนะจ๊ะ
เอาพอดีๆ สบายๆ
ปรับใจ
ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์
ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง
ให้คลายความผูกพันในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง
วางใจ
แล้วเราก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น
นำมาขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่เกิด
ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของเรา แล้วก็เป็นต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง
เพราะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นสาระแก่นสารของชีวิต มีแต่ทุกข์โทษภัย
ท่านก็เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด คลายความผูกพัน แล้วใจของท่านก็จะมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ อยู่ที่ตรงนี้
ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดนิ่งอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เส้นทางพระนิพพาน
พอหยุดนิ่งถูกส่วน ใจของท่านก็นิ่งแน่น นุ่มนวล
แล้วก็ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน เหมือนตกสุญญากาศ เมื่อใจนิ่งได้สนิทแล้ว ก็จะมีดวงธรรมลอยขึ้นมาเป็นดวงใสๆ
กลมๆ รอบตัวเหมือนดวงแก้ว อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือใหญ่กว่านั้นนะจ๊ะ
แล้วแต่กำลังบารมีที่ไม่เท่ากัน แต่ว่าใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรที่เจียระไนแล้ว
ไม่มีตำหนิเลย อย่างน้อยก็เหมือนน้ำใสๆ เหมือนน้ำแข็งใสๆ หรือเหมือนกระจกใสๆ เหมือนเพชรใสๆ
หรือใสเกินความใสใดๆในโลก ที่มาพร้อมกับความสุขที่ท่านไม่เคยเจอมาก่อน
แม้ความเป็นพระราชา การเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองทวีปทั้งสี่
ก็ไม่ได้ความสุขอย่างนี้ เป็นสุขที่ไม่มีประมาณ มาพร้อมกับความบริสุทธิ์
ความสะอาดของใจ ความสว่างความใสของใจ ความสงบสุข
สุขสงบ สะอาด สว่าง เกิดขึ้นเมื่อใจหยุดนิ่ง
ใจจะใส นี่เป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้น เป็นธรรมดวงแรก พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี
(สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เป็นธรรมดวงแรก หรือเรียกว่า ดวงปฐมมรรค
แปลว่า เบื้องต้น หนทางจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
โดยธรรมดวงนี้เกิดขึ้นมาแล้ว หลังจากนั้นท่านก็นิ่งอย่างเดียวเรื่อยไป
นิ่งในกลางนั้น มันนิ่งเอง ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
นิ่ง แล้วก็เห็นว่า ในกลางดวงปฐมมรรคนั้น มีดวงธรรมซ้อนๆกันอยู่
มีดวงศีล ใจท่านก็นิ่งต่อไปอีก หยุดอยู่ในกลางดวงศีล
ก็เข้าถึงดวงสมาธิ ใจท่านก็หยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงสมาธิ ก็เข้าถึงดวงปัญญา
พอหยุดอยู่ในกลางดวงปัญญาก็เข้าถึงดวงวิมุตติ พอหยุดอยู่ในกลางดวงวิมุตติ ก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ซ้อนๆกันอยู่อย่างนี้ เป็นชั้นๆ เข้าไป ๑
ชุดก็มี ๖ ดวง จะกลั่นใจให้ใสบริสุทธิ์ ทำให้เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดภายใน
กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เห็นตัวเอง เห็นกายมนุษย์ละเอียด
ลักษณะเหมือนตัวเอง ท่านหญิงก็เหมือนกับท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย
นั่งสมาธิอิริยาบถเดียว หันหน้าออกไปทางเดียวกัน
ท่านก็จะหยุดนิ่งไปเรื่อยๆ หยุดนิ่งไป
ความแจ่มแจ้งเข้าใจชีวิตภายในก็เพิ่มขึ้น หยุดอย่างเดียว อย่างนี้เรื่อยไป คือ เห็นกายซ้อนๆกันอยู่อย่างนี้
มีชีวิตอีกหลายๆระดับที่ประณีตเพิ่มขึ้น ซ้อนอยู่ในกลางซึ่งกันและกัน
ในกลางมนุษย์ละเอียด ก็จะเข้าถึง กายทิพย์
ซึ่งมีกายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียดจะเป็นคู่ๆ กันไปอย่างนี้
ในกลางกายทิพย์ ก็เข้าถึง กายรูปพรหม
ในกลางกายรูปพรหม ก็เข้าถึง กายอรูปพรหม
ในกลางกายอรูปพรหม ก็เข้าถึง กายธรรมโคตรภู เป็นกายองค์พระที่ใสบริสุทธิ์
สวยงามมาก เกตุดอกบัวตูม หน้าตักหย่อนกว่า ๕ วานิดหน่อย เป็นตัวพุทธรัตนะ ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของธรรมรัตนะ
และสังฆรัตนะ หรือที่เราคุ้นเคยว่า พระรัตนตรัยที่อยู่ภายในนี่แหละ กายนี้สวยงามมาก
มีอานุภาพมาก มีธรรมจักขุ มีญาณทัสสนะ
จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดขึ้นในกายนี้เป็นต้นไป
ในกลางกายธรรมโคตรภู หยุดนิ่งอย่างเดียวต่อไปก็จะเข้าถึง
กายธรรมพระโสดาบัน หนักตัก ๕ วา สูง ๕ วา
ในกลางกายธรรมพระโสดาบัน พอหยุดนิ่งถูกส่วนก็เข้าถึง
กายธรรมพระสกิทาคามี หรือพระสกทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา ใสบริสุทธิ์หนักขึ้น
บริสุทธิ์หนักขึ้น กิเลสก็ล่อนเข้าไปเรื่อยๆ
ในกลางกายธรรมพระสกทาคามี ก็เข้าถึง กายธรรมพระอนาคามี
หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา ใสบริสุทธิ์หนักขึ้นไปอีก
ในกลางกายธรรมพระอนาคามี ก็เข้าถึง กายธรรมพระอรหัต
หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใสบริสุทธิ์
เป็นกายในกายที่ซ้อนๆ กันอยู่
แต่ละกายก็มีชีวิตจิตใจคล้ายๆ กับกายมนุษย์หยาบนี่แหละ แต่ว่าบริสุทธิ์เพิ่มยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
จนบริสุทธิ์ที่สุด คือ กายธรรมอรหัตผล กายที่ ๑๘ นั่นคือเป้าหมายของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี่แหละในแต่ละภพแต่ละชาติ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านก็ทำอย่างนี้
หยุดนิ่งอย่างเดียวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แปลว่า มรรคผลนิพพานนั้นมีอยู่แล้วในตัวของเรา
และของมวลมนุษยชาติทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์
ต่างแต่ว่าจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้บรรลุธรรมนี้ด้วยการหยุดนิ่งอย่างเดียวนี่แหละ
แล้วก็นำมาถ่ายทอดแก่ผู้มีบุญ ให้ได้บรรลุธรรมตามท่าน ท่านจึงได้ชื่อว่า เป็นพระบรมครู
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีบุญที่ปฏิบัติตามท่าน
ตามคำสอนของท่านก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานมากมายไปตามกำลังแห่งบารมีของแต่ละท่านที่ไม่เท่ากัน
เป็นพระอรหันต์ก็เยอะ เป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระอนาคามี พระสกทาคามี
พระโสดาบันก็เยอะ
หรืออย่างน้อยก็เป็น โคตรภูบุคคล คือ อยู่ครึ่งทางระหว่างความเป็นปุถุชนกับความเป็นพระอริยเจ้า
คือ เลยความเป็นปุถุชน แต่ยังไม่ได้ก้าวเข้าไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า
เรียกว่าโคตรภูบุคคล มีพระรัตนตรัยชัด ใสแจ่มอยู่ตลอดเวลา ทั้งหลับตา ลืมตา นั่ง
นอน ยืน เดิน เป็นที่พึ่งที่ระลึกของตน และก็รู้จักว่า นี่คือที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วในระดับหนึ่งทีเดียว
พุทธศาสนาเริ่มต้นตรงพระรัตนตรัยตรงนี้ ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูบุคคลเรื่อยไปจนกระทั่งเป็นพระโสดาบัน
พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหัต ชีวิตหนึ่งที่เกิดมาก็เพื่อการนี้เพียงประการเดียว
นิวรณ์ ๕ อุปสรรคในการปฏิบัติธรรม
เราเกิดมาเพื่อบรรลุธรรมดังกล่าว
แต่ว่ามีเครื่องกั้น สิ่งที่บดบังเราอยู่ คือ นิวรณ์
๕ ได้แก่
กามฉันทะ คือ ใจไปผูกพันเหนี่ยวรั้งหมกมุ่นกับกามฉันทะ เรื่องเพศ เรื่องสมบัติ
เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ อำนาจวาสนา อะไรต่างๆ เหล่านั้น เป็นต้น หากใจหมกมุ่นอยู่ตรงนี้
มันก็หมดเวลาของชีวิตไป เพราะสิ่งที่หมกมุ่นอยู่ก็มีปัญหาของมัน อยู่ในตัว เพราะฉะนั้นก็จะต้องหมดเวลากับการแก้ปัญหา
กับความกลุ้ม โศกเศร้าเสียใจ คับแค้นใจ ร่ำพิไรรำพัน อาลัยอาวรณ์กันอยู่
ก็ผูกพันอย่างนี้แหละ ใจก็ไม่ละเอียด มันก็หยาบเร่าร้อนกันไป
เพราะฉะนั้นก็จะหลุดจากตรงกลางตรงนี้
พยาบาท เมื่อความพยาบาทครอบงำ กิเลสในตระกูลโทสะ
ความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ ความแค้นใจ ความโกรธ ความแค้น ความผูกพยาบาท
ใจมันก็จะหมกมุ่นวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ทั้งวันทั้งคืน ก็หลุดจากตรงกลางฐานที่
๗
ถีนมิทธะ ความท้อ ความง่วง
อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งไปในเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีกระแสสื่อมาทุกด้าน
ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำให้ใจฟุ้งไปสู่อารมณ์เหล่านั้น
ปรุงแต่งในเรื่องเหล่านั้น ก็จะหลุดจากกลางตรงนี้แหละ
วิจิกิจฉา ความสงสัยในสิ่งที่ไม่ควรจะสงสัย
แต่สิ่งที่ควรสงสัยก็ไม่สงสัย ไม่แสวงหาคำตอบ ใจก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ เหมือนอยู่บนทาง
๒ แพร่ง ไม่ทราบว่าจะไปทางไหนดี นี่ก็เป็นเครื่องกั้นจิตอีกเหมือนกัน
บดบังให้ใจกับกายภายในไม่เชื่อมถึงกัน
นิวรณ์ทั้ง ๕ นี่แหละเป็นเครื่องบดบังคั่นไว้ระหว่างใจกับสิ่งที่เป็นจริง
ไม่ให้ใจเชื่อมกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้ ก็เตลิดเปิดเปิงกันไปอย่างนั้น
เวลาของชีวิตก็จะหมดเปลืองไปกับสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ตายจากโลกนี้ไป แถมมีวิบากกรรมติดตัวไปอีกด้วยความไม่รู้นี่แหละ
ไม่รู้ว่า มีกฎแห่งกรรมบังคับอยู่
บังคับบัญชาอยู่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังผลิตกฎแห่งกรรมนี้ ก็คือ พญามาร เขาบดบังอยู่
เมื่อมีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บารมีท่านเต็มเปี่ยม ท่านก็บรรลุธรรมนี้ คือ หยุดนิ่งแล้วก็เห็นไปตามความเป็นจริงดังที่กล่าวมานี้แหละ
ท่านก็นำมาถ่ายทอด ตั้งแต่ว่า ชีวิตมันเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความทะยานอยากที่ไม่ได้ประกอบไปด้วยปัญญา
แต่ประกอบไปด้วยความไม่รู้ ทำให้หมกมุ่นเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น ความอยากที่ทำให้ใจตกต่ำ
ไม่สูงส่ง ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงามนั่นแหละ เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ อยากได้ อยากมี
อยากเป็น เป็นต้น
ต้องหยุดใจนิ่งๆ นี่แหละ มรรค
จึงเกิด
หยุดใจ
คือ ทิ้งทุกอย่าง วางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว มรรคก็เกิดขึ้นเป็นดวงใสๆ
เป็นทางในแนวดิ่งที่อยู่ภายในตัวนั่นแหละ จึงจะดับทุกข์ได้ หลุดพ้นจากทุกข์ได้
บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ชาวพุทธที่แท้จริง
เราเป็นชาวพุทธ มีบุญมากที่ได้มาอยู่ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหลืออย่างเดียวก็ต้องขวนขวายที่จะศึกษาเรียนรู้
แล้วก็นำมาฝึกฝนพัฒนาตัวของเราให้มีประสบการณ์ภายใน เราก็จะได้เข้าใจชีวิตของเราได้ดีขึ้นด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วจะได้ทราบว่า อะไรคือที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง เราเกิดมาทำไม
อะไรคือเป้าหมายของชีวิต แล้วจะไปสู่เป้าหมายของชีวิตนั้นได้อย่างไร
เมื่อเรารู้แล้วเห็นแล้ว ก็จะได้ไปทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรแนะนำถ่ายทอดต่อๆ กันไป
ชาวพุทธต้องศึกษา
ต้องฝึกฝนจนมีประสบการณ์ภายใน แล้วก็สั่งสอนแนะนำชักชวนต่อๆ กันไป ต้องมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
ต้องรู้จักตัวพระรัตนตรัยทั้งภายนอกและภายใน
พระรัตนตรัยภายใน คือ ธรรมกาย
พระรัตนตรัยภายนอก คือ สิ่งที่จำลองจากภายในออกไปภายนอก
ถ้ารู้จักอย่างนี้ได้ เราจึงจะได้ชื่อว่า เราเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์
แล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ดังนั้น การที่ลูกทั้งหลายได้ให้โอกาสตัวเองในทุกๆ
วันอาทิตย์ มาศึกษาเรียนรู้ มาปฏิบัติธรรม ฝึกใจหยุดนิ่งนี้จึงถูกหลักวิชชา ได้ชื่อว่า
เดินตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บริกรรมนิมิต
เวลาที่เหลืออยู่นี้ ให้ลูกทุกคนฝึกใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ โดยกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ จะเป็นดวงใสๆ หรือจะเป็นองค์พระพุทธรูปแก้วขาวใส
หรือเป็นโลหะอะไรก็ได้ เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงใจของเราให้มาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ แล้วพอถูกส่วน ก็จะทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปเอง ใจก็จะตกศูนย์กลับเข้าไปสู่ภายใน แล้วก็เห็นไปตามลำดับดังกล่าว
กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาเป็นดวงใสๆ
หรือองค์พระใสๆ ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ อย่างง่ายๆ สบายๆ ใจเย็นๆ
บริกรรมภาวนา
ประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนา ในใจเบาๆ
สบายๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ ภาวนาอย่างนี้เรื่อยไป กี่ครั้งก็ได้
จนกว่าใจของเราไม่อยากจะภาวนาอีกต่อไป อยากหยุดใจนิ่งไว้อย่างเดียว ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้
เราก็ไม่ต้องภาวนาต่อไป แต่เมื่อใดใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น เราจึงย้อนกลับมาภาวนาใหม่
ก็ให้ประคับประคองใจกันไปอย่างนี้
เช้านี้อากาศกำลังสดชื่นเย็นสบาย
เหมาะสมที่ลูกผู้มีบุญทุกคนจะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา
ก็ให้ลูกประคับประคองใจกันไปให้หยุดนิ่งให้ได้ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ
ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ คน นะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565