เป้าหมายชีวิต
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กันยายน
พ.ศ. ๒๕๕๓ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ให้ตั้งใจ ให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกัน ทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูกพอสบายๆ
ไม่ถึงกับปิดสนิทนะจ๊ะ แค่พอสบายๆ คล้ายๆ กับเราปรือๆ ตานิดหนึ่ง ไม่ถึงกับปิดสนิท
อย่าไปบีบเปลือกตานะจ๊ะ อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบายๆ พริ้มๆ ตรงนี้สำคัญนะลูกนะ หลับตาพอสบายๆ
แล้วก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวต้องผ่อนคลาย อย่าให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของเรา มันตึง
มันเกร็งนะจ๊ะ ตั้งแต่กล้ามเนื้อบนใบหน้า ศีรษะ ลำคอ บ่า ไหล่
แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ต้องผ่อนคลาย
กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว
ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้า ต้องผ่อนคลาย ไม่ให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของเรา
มันเกร็ง มันตึง ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน ให้รู้สึกสบาย
เราจะเสียเวลาตรงนี้ สักหนึ่งหรือสองนาที ทำตรงนี้ให้คุ้นเคย
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด
บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ต้องปลด
ต้องปล่อย ต้องวาง ต้องคลายความผูกพัน ทำประหนึ่งว่า เราอยู่คนเดียวในโลกนะจ๊ะ
ไม่เคยเจอใครเลย ไม่มีเรื่องราวอะไรเลย
ทุกสรรพสิ่งล้วนไปสู่จุดสลาย
ต้องทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง คือ ใจต้องไม่ติดในคน
สัตว์ สิ่งของ โดยเราพิจารณาถึงความเป็นจริงว่า คน สัตว์ สิ่งของ
เกี่ยวข้องกับเราก็ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นแหละ ไม่ช้าก็ต้องพลัดพรากจากกันไป
ไม่เราจากสิ่งนั้นไปก่อน สิ่งนั้นก็อาจจะต้องจากเราไปก่อน ไม่ว่าจะจากเป็น
หรือจากตายก็ตาม
เพราะว่าทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่
แล้วก็ไปสู่จุดสลาย นี่ก็เป็นปกติธรรมดาของสิ่งมีชีวิต และก็ไม่มีชีวิต
ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งสิ้น ชีวิตในสังสารวัฏมันก็เป็นอย่างนี้แหละ จะเกี่ยวข้องกันก็ชั่วครั้งชั่วคราว
ไม่ได้มีสาระแก่นสารอะไรกันนัก เราใช้เวลานึกคิดสิ่งเหล่านี้ไปตามความเป็นจริง อีกสักหนึ่งหรือสองนาที
เพราะความจริงมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่จากเป็นก็จากตาย
แม้แต่ร่างกายของเรา
มันก็เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดสลายทั้งสิ้น ตั้งแต่คลอดออกมาจากครรภ์มารดา ไปสู่ความเสื่อม
ไปสู่จุดแห่งความเสื่อมทั้งสิ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ไปสู่ความเสื่อมสลาย
ซึ่งเราก็มีประสบการณ์ด้วยตัวของเราเองทั้งสิ้น ความจริงมันเป็นอย่างนี้
อะไรคือเป้าหมายชีวิต
เราจะได้ย้อนกลับมานึกคิดว่า
แล้วเราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต
แล้วเราจะไปสู่เป้าหมายของชีวิตนั้นได้อย่างไร
ซึ่งตรงนี้เราโชคดีมีบุญได้มาเกิดอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนา
ได้มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสั่งสอนของท่านประดุจเข็มทิศ ชี้จุดหมายปลายทางของชีวิต
ที่ทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น
เพราะชีวิตในสังสารวัฏมันเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น เราเกิดมาก็เพื่อแสวงหาหนทางที่จะพ้นทุกข์
หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ คือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง และเราก็ยังได้ทราบอีกว่า
มรรคผลนิพพานมีอยู่ในตัวของเราเอง
การบรรลุมรรคผลนิพพาน
ก็ต้องบรรลุภายในตัวของเราเอง เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย
ที่ท่านค้นพบหนทางแห่งการพ้นทุกข์ เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ เป็นบรมสุข หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด โดยเริ่มต้นหยุดใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
เมื่อใจท่านทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
ใจก็จะกลับมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
หยุดนิ่งอย่างเดียวโดยไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ตั้งแต่เบื้องต้น
จนกระทั่งท่านได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็นำมาถ่ายทอดให้กับพระสาวก
พระสาวกก็ทำตามคำสั่งสอนของท่าน โดยการทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
ใจหยุดนิ่งอย่างเดียวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์
เรามีบุญลาภตรงนี้แหละ ที่เรารู้จักหลักวิชชา
รู้ว่า เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต แล้วจะไปสู่เป้าหมายของชีวิตนั้นได้อย่างไร
วางใจ
เพราะฉะนั้น เมื่อเราปรับร่างกายของเราดีแล้ว
เราก็รวมใจมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือนะจ๊ะ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น
เรานำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง
ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม
เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
ซึ่งนักเรียนใหม่ก็จะต้องทำความรู้จักเอาไว้ว่า
ตรงนี้นอกจากเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น ของเราแล้ว
ยังเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระอรหันต์ท่านหยุดใจอยู่ตรงนี้แหละ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน เราก็จะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้
แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริงๆ เราไม่ถึงกับต้องกังวลจนเกินไปว่า ใจของเรามาหยุดอยู่ตรงที่ฐานที่
๗ พอดีเป๊ะไหม เอาว่าประมาณกลางท้อง ในระดับที่เรามั่นใจว่า ตรงนี้คือ ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
บริกรรมนิมิต
ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้น
กำหนดเครื่องหมายเป็น Landmark
ที่หยุดใจของเรา เป็นเพชรสักเม็ดหนึ่งที่ใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
โตขนาดแก้วตาของเรา หรือขนาดไหนก็ได้ที่ใจเราชอบ
ให้เป็นจุดเชื่อมโยงใจที่วอกแวกไปมา มาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
ให้นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้ อย่างเบาๆ สบายๆ
คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย เหมือนนึกถึงภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
ดวงดาวบนท้องฟ้า หรือดอกบัว ดอกกุหลาบอะไรอย่างนั้นแหละ นึกธรรมดาๆ
แต่ว่าเป็นเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย ใสบริสุทธิ์
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้นะจ๊ะ
นึกอย่างเบาๆ
สบายๆ ให้มีสติ สบาย และสม่ำเสมอ คือ นึกเบาๆ อย่างต่อเนื่อง ต้องเบาๆ อย่าไปเน้น
อย่าไปเค้นภาพ นึกได้ชัดเจนแค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน นึกไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
ทำความรู้สึกว่า บริกรรมนิมิตนี้ มีอยู่ในกลางท้องใสๆ บริสุทธิ์ หรือจะเป็นก้อนน้ำแข็งใสๆ
ที่เราคุ้นเคยก็ได้ ให้กลมๆ เหมือนดวงแก้ว
อย่าเอาลูกนัยน์ตากดไปดูนะจ๊ะ
ถึงได้บอกให้ปรือๆ ตา ปรือตา เพื่อที่จะดูเหมือนชำเลืองดู ดูเหมือนไม่ได้ดู
แค่มองผ่านๆ คล้ายๆ ตั้งใจเหมือนไม่ได้ตั้งใจ วัตถุประสงค์ให้ใจมาตั้งมั่นอยู่ที่ตรงนี้
บริกรรมภาวนา
แล้วก็ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา
สัมมาอะระหังๆๆ เสียงคำภาวนาก็ต้องให้ดังออกมาจากกลางท้องนะจ๊ะ
ไม่ใช่ดังมาจากที่สมองของเรา คล้ายๆ
กับเป็นเสียงที่ดังออกมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ แหล่งแห่งอานุภาพอันไม่มีประมาณ
ผ่านกลางกายของเรา เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อนภายในใจ คล้ายๆ เสียงบทสวดมนต์ที่เราคุ้นเคย
หรือเสียงบทเพลงที่เราไม่ได้ตั้งใจร้อง แต่มันดังขึ้นมาเอง
ทั้งเสียงคำภาวนา
สัมมาอะระหัง ก็ดี การนึกถึงภาพอย่างเบาๆ ก็ดี แบบชำเลืองดูอย่างนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ
สบายๆ จะช่วยให้ใจของเราหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้อย่างง่ายๆ ยิ่งภาวนาไปด้วย
นึกถึงบริกรรมนิมิตไปด้วยอย่างสบายๆ และยิ่งผ่อนคลายร่างกายไปด้วย
อีกทั้งหลับตาเป็นด้วย
ปรือๆ ตา ไม่ช้าใจจะหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ ได้อย่างง่ายๆ
อย่างที่เรานึกไม่ถึงเลย แต่ถ้าเผลอไปกดลูกนัยน์ตา ก็เผยอเปลือกตาสักนิดหนึ่ง
ถ้าเกร็งก็ผ่อนคลาย ถ้าตั้งใจเกินไปก็ปรือๆ ตา
ทำสบายๆ
อย่าอยากได้จนเกิน ไป อย่าตั้งใจจนเกินไป อย่ากลัวว่าเราจะเข้าถึงช้า
อย่าไปกำกับจนเกินไป ทำเบาๆ สบายๆ ต้องผ่อนคลาย ใจเย็นๆ ลูกทุกคนก็จะใจหยุดนิ่งได้
ทำให้ถูกหลักวิชชาต้องเข้าถึงแน่นอน
ลูกทุกคนมีบุญเก่ามามากมาย
จึงได้มาอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนา ในวิชชาธรรมกาย มาอยู่ในยุคนี้ที่ทำให้เราสามารถฝึกหนักอย่างถูกหลักวิชชาได้
สามารถมีประสบการณ์ภายในได้ เช่นเดียวกับหมู่คณะของเรานะจ๊ะ
เพราะฉะนั้น
ลูกจะต้องทำให้ถูกหลักวิชชา ต้องผ่อนคลาย ต้องปรือๆ ตา ต้องชำเลืองตาไปดู
ต้องนึกเบาๆ ต้องไม่ตั้งใจเกินไป ต้องใจเย็นๆ ต้องผ่อนคลาย สบายๆ ฝึกกันไปอย่างนี้นะลูกนะ
ถ้าลูกทำอย่างนี้ได้ เช้านี้คือเช้าแห่งความสมปรารถนา
อย่ากลัวช้านะจ๊ะ
ให้ทำใจเย็นๆ เราอย่าไปคิดว่า เราคงมีบุญน้อย วาสนาน้อย จึงไม่ได้เห็นอย่างเขา
ไม่ได้เข้าถึงอย่างเขา ไม่ใช่จ้ะ บุญน้อยมีวันนี้ไม่ได้ บุญเรามากเพียงพอ แต่วิธีการกับความเพียรต่างหาก
วิธีการต้องถูกต้อง
ความเพียรต้องสม่ำเสมอ เราปรับปรุงไปเรื่อยๆ สบายๆ ใจเย็นๆ ทำทุกอิริยาบถ นั่ง นอน
ยืน เดิน วันนี้ใจไม่หยุดนิ่ง พรุ่งนี้เอาใหม่ ฝึกกันไปอย่างนี้แหละ
ไม่ช้าลูกก็จะสมปรารถนา
เช้านี้อากาศกำลังสดชื่น แจ่มใส เย็นสบาย
เหมาะสมที่ลูกๆ ทุกคนผู้มีบุญ จะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้า ให้ถูกหลักวิชชา
ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย ก็ให้ตั้งใจประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง
ขอให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระธรรมกายในตัวทุกคนนะ
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565