นำใจกลับไปสู่ที่ตั้งดั้งเดิม
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน
พ.ศ. ๒๕๕๓ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา
จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ไม่ถึงกับปิดสนิท
คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาพอสบายๆ
แล้วก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกว่าผ่อนคลาย สบาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
อย่าให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของเรามันเกร็ง มันตึง ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้ใสๆ
ให้เยือกเย็น ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจ การงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว
หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ให้ปลด
ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง เพราะว่าสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นตั้งอยู่ล้วนไปสู่จุดสลายทั้งสิ้น
แม้สังขารร่างกายของเราก็เป็นเช่นนั้น เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ไปสู่จุดสลาย
เพราะฉะนั้นให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง
วางใจ
รวมใจมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา
๒ เส้น นำมาขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา
๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หรือจำง่ายๆ ว่าอยู่ในบริเวณกลางท้อง
ในระดับที่เรามั่นใจว่า เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒นิ้วมือ
ต้นทางสู่อายตนนิพพาน
ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่สำคัญ เพราะเป็นที่เกิด
ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของเรา เกิดตรงนี้ ตายตรงนี้ หลับตรงนี้ ตื่นตรงนี้
แล้วก็เป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
ที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓
ทางหลุดทางพ้นต้องเริ่มต้นจากตรงนี้
เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทุกๆ พระองค์
นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วนท่านก็ทำอย่างนี้ พระอรหันต์ก็ทำอย่างนี้
เราก็จะต้องทำอย่างท่าน
ใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้แหละ
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มันจะเป็นเส้นทางเอกสายเดียว เป็นแนวดิ่งเข้าไปสู่ภายใน
แนวดิ่งไปสู่อายตนนิพพาน เส้นทางเอกสายเดียวเป็นแนวดิ่ง ลงไป ใจต้องนำมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้
ดับทุกข์ได้เมื่อใจหยุดนิ่งในตำแหน่งแห่งความสุข
ต้องหยุด
ต้องครอบครองศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ให้ได้ เพราะว่าพญามารระเบิดใจเราหลุดออกจากตรงนี้
ไปติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ คน สัตว์ สิ่งของเป็นต้น เพราะฉะนั้นชีวิตของเราจึงมีแต่ความทุกข์ทรมานมากบ้าง
น้อยบ้าง ทุกชนชั้น ชนชั้นล่างก็ทุกข์แบบชนชั้นล่าง
ชนชั้นกลางก็ทุกข์แบบชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงก็ทุกข์แบบชนชั้นสูง
ล้วนมีความทุกข์ทั้งสิ้น เพราะว่าใจหลุดออกจากตำแหน่งแห่งความสุข ความบริสุทธิ์
ความรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
เพราะฉะนั้น
เราก็จะต้องนำใจกลับมาหยุดนิ่งตรงนี้ให้ได้ กาย วาจา ใจ ที่เสื่อมคุณภาพไปก็จะถูกปรับสภาพใหม่ให้มีคุณภาพ
ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ คือ ใจจะใสๆ มีความสุข ความบริสุทธิ์ ความคิดก็จะคิดดี พูดก็จะพูดดี ทำก็จะทำแต่สิ่งดีๆ สิ่งไม่ดีก็จะไม่ทำ ไม่คิด ไม่พูด
ตำแหน่งตรงนี้จึงสำคัญมาก
ความลับของชีวิตของเราก็จะถูกเปิดเผย
เราจะถูกปรับสภาพใหม่
จากผู้ที่ไม่รู้มากลายเป็นผู้รู้แจ้ง เพราะว่าใจกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งของผู้รู้แจ้งมาก่อน
คือตำแหน่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
พระธรรมกายภายในตัว
เมื่อนิ่งถูกส่วน
ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน จะเข้าถึงกายในกายที่ซ้อนกันอยู่ภายใน โดยเฉพาะกายธรรม
พบกายพระพุทธเจ้าภายใน คือ พระธรรมกาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้
ธรรมกายโย
อะหัง อิติปิ พระตถาคตเจ้าคือธรรมกาย แต่นี่เป็นพระธรรมกายในตัวของเรา
เช่นเดียวกับพระธรรมกายในตัวของท่าน จะเข้าถึงพระธรรมกายหรือกายธรรมในตัว ซึ่งเป็นกายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
เป็นกายดั้งเดิม ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรานั่นแหละ
กายท่านจะสุกใส
สวยงามมาก เกตุดอกบัวตูม ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ครบถ้วนทุกประการ มีอยู่ในกายของมนุษย์ทุกๆ คนในโลก
กายที่นอกเหนือจากกายธรรมนี้ออกมา
เป็นกายที่แตกต่างจากกายแท้ดั้งเดิม แล้วก็ไม่เหมือนกันเลย
จนกระทั่งมาถึงกายมนุษย์หยาบนี่แหละ
เพราะความไม่เหมือนกายดั้งเดิม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่า กายนี้เป็นอนิจจัง
เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน เป็นกายดั้งเดิมที่แท้จริง
เพราะเปลี่ยนแปลงตลอด แตกต่างไปจากเดิม มีแต่ความทุกข์ทรมานของชีวิต
ดังนั้น
เรามีหน้าที่ที่จะนำใจกลับไปสู่ตำแหน่งดั้งเดิม และเข้าไปถึงกายธรรม
กายดั้งเดิมของเรานี้ให้ได้
เดินตามรอยพุทธองค์
เราเป็นชาวพุทธ มีบุญมาก ได้เกิดในบุญเขตร่มเงาของพระพุทธศาสนา
คือคำสอนของท่านผู้รู้แจ้ง เห็นแจ้ง แทงตลอดในธรรมทั้งปวง ในสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นผู้ที่ไม่มีความลับของชีวิตสำหรับท่าน แทงตลอดในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย
ดังนั้น เราก็ต้องอาศัยความมีบุญที่ได้มาเกิดเป็นชาวพุทธ
ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ไม่ช้าเราก็จะมีประสบการณ์ภายใน ท่านเป็นอย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้น ท่านเข้าถึงกายธรรม
เราก็จะเข้าถึงกายธรรมที่อยู่ภายใน
หยุดเป็นตัวสำเร็จ ใจต้องหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดนิ่งเท่านั้น
จึงจะเข้าถึงกายธรรม กายดั้งเดิมของเราได้ กายที่เป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง
บริกรรมนิมิต
ตอนนี้ให้ลูกทุกคนประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ด้วยการกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจของเรา ให้เป็นหลักที่ยึดที่เกาะของใจ
กำหนดเครื่องหมายที่ใสสะอาด
เหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว พูดง่ายๆ คือกำหนดเพชรสักเม็ดหนึ่ง ของใสๆ
เหมือนก้อนน้ำแข็งใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ขนาดไหนก็ได้
อย่างน้อยก็เท่าแก้วตาของเรานะจ๊ะ
กำหนดบริกรรมนิมิต
เป็นเพชรสักเม็ดหนึ่งที่ใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เอาไว้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจของเรา
กำหนด ก็คือ การนึกอย่างเบาๆ
สบายๆ แล้วก็ผ่อนคลาย นึกง่ายๆ คล้ายกับเรานึกถึงภาพดอกบัว ดอกกุหลาบ
หรือสิ่งที่เราคุ้นเคย นึกเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ อย่าไปเค้นภาพ
นึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน นึกไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
ให้สมมติว่าสิ่งนี้มีอยู่ในตัวของเราแล้ว เป็นดวงกลมๆ ใสๆ เหมือนกับเพชรที่เจียระไนแล้ว
ไม่มีตำหนิเลย ใสบริสุทธิ์ ต้องนึกเบาๆ และผ่อนคลาย
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง
ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ โดยให้เสียงของคำภาวนา ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
ผ่านกลางดวงใสๆ ที่เรากำหนดเป็นบริกรรมนิมิต ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหัง
ทุกครั้งที่ภาวนาสัมมาอะระหัง
จะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างสบายๆ แล้วก็ผ่อนคลาย
ใจเย็นๆ สบาย ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างสบายๆ แล้วก็ผ่อนคลาย
ทำตาปรือๆ
ในระดับขนตาชนกัน ไม่ถึงกับปิดสนิทปรือๆ
ตา ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ
อย่างผ่อนคลาย สบาย ใจเย็นๆ สัมมาอะระหังๆๆ ประคับประคองใจกันไปอย่างนี้
จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่งมันก็จะทิ้งคำภาวนา
สัมมาอะระหัง ไปเอง นิ่งอย่างเดียว
อย่างสบายๆ
พอถูกส่วนใจก็จะขยาย
เราก็รู้สึกว่าร่างกายเราขยาย ขยายใหญ่มาก ตัวยืดบ้าง บางคนก็ตัวย่อลงมา
บางคนก็ตัวยุบลงไป เหมือนหล่นจากที่สูงบ้างก็อย่าไปตกใจ อย่าลืมตา อย่าขยับตัว
แล้วก็ไม่ต้องกลัวอะไร ทำใจใสๆ เย็นๆ
ในทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้น นิ่งๆ เฉยๆ อย่างสบายๆ
แล้วลูกทุกคนจะสมหวังดั่งใจ
เช้านี้ อากาศสดชื่นแจ่มใส
เย็นสบาย เหมาะสมที่ลูกผู้มีบุญทุกๆ คน จะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา
ให้ประคับประคองใจกันไปอย่างนี้ ให้ลูกทุกคนสมหวังดั่งใจ
ด้วยการเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565